คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7585/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยชำระดอกเบี้ย แม้จำนวนเงินค่าดอกเบี้ยจะไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงก็เป็นเรื่องการเรียกดอกเบี้ยผิดพลาดเท่านั้น ศาลย่อมจะคิดคำนวนให้ถูกต้องได้ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์คือ จำเลยได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวนเท่าใด เมื่อใด และจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้แล้ว กับคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
คำให้การของจำเลยที่ต่อสู้ว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยค้างส่งเกิน 5 ปี ไม่ได้ ต้องห้ามมิให้เรียกตามกฎหมาย เท่ากับต่อสู้ว่าหนี้ ดอกเบี้ยเกิน 5 ปี ขาดอายุความแล้ว ที่ศาลล่างวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยย้อนหลังไปเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2535 จำเลยกู้เงินจากโจทก์จำนวน 350,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยตามกฎหมาย โดยไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ โจทก์เคยทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงมอบให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลย ต่อมาวันที่ 29 ธันวาคม 2543 จำเลยนำเงินมาชำระเป็นค่าดอกเบี้ยให้โจทก์จำนวน 70,000 บาท แต่หลังจากนั้นไม่ได้ชำระอีก ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 531,124.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 350,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้เงินจากโจทก์ แต่เมื่อปี 2520 โจทก์เข้าหุ้นกับจำเลยประกอบธุรกิจให้กู้เงิน โดยนำผลประโยชน์คือดอกเบี้ยมาแบ่งกัน โจทก์ลงหุ้นโดยนำเงินจำนวน 350,000 บาท มอบให้จำเลยเพื่อนำออกไปให้ข้าราชการครูกู้ คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ส่วนจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่การเงินของสำนักงานการประถมศึกษา อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา มีหน้าที่เบิกจ่ายเงินเดือนและเงินสวัสดิการอื่นๆ ของข้าราชการครูสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอประทาย ลงหุ้นโดยการลงแรงทำหน้าที่ติดตามเก็บดอกเบี้ยมาแบ่งกัน ซึ่งในแต่ละเดือนจะได้ดอกเบี้ยจำนวน 17,500 บาท แบ่งให้โจทก์จำนวน 10,000 บาท ให้จำเลยจำนวน 7,500 บาท เกี่ยวกับสัญญากู้เงินตามฟ้องนั้น โจทก์ให้จำเลยเขียนไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าโจทก์ได้นำเงินมาลงหุ้นกับจำเลยจริง สัญญากู้เงินจึงไม่สมบูรณ์ใช้บังคับไม่ได้ ทั้งสัญญาหุ้นส่วนยังไม่เลิกกัน โจทก์ยังฟ้องจำเลยและเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยไม่ได้ เงินจำนวน 70,000 บาท ที่จำเลยมอบให้โจทก์เป็นดอกเบี้ยที่เก็บรวบรวมมาจากผู้กู้ ดอกเบี้ยตามฟ้องขาดอายุความ และฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า จำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงิน ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2535 ตามเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่โจทก์ มีข้อความว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปเป็นจำนวน 350,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามกฎหมาย โดยไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ ต่อมาวันที่ 29 ธันวาคม 2543 จำเลยนำเงินจำนวน 70,000 บาท ไปมอบให้โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกู้ยืมเงินจำนวน 350,000 บาท จากโจทก์ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 หรือไม่…พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานฝ่ายจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จริงตามฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 531,124.98 บาท ทั้งที่จำเลยชำระดอกเบี้ยไปแล้ว 70,000 บาท จึงไม่สามารถเข้าใจได้ว่าโจทก์อาศัยสิทธิอะไร คำฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ที่ขอให้บังคับจำเลยชำระดอกเบี้ย แม้จำนวนเงินค่าดอกเบี้ยจะไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงก็เป็นเรื่องการเรียกดอกเบี้ยผิดพลาดเท่านั้น ศาลย่อมจะคิดคำนวณให้ถูกต้องที่ตามได้เมื่อคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ คือ จำเลยได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวนเท่าใด เมื่อใด และจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้แล้ว กับคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายไม่เคลือบคลุมแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์จริงตามฟ้อง จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามสัญญา กล่าวคือ ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้นำเงินจำนวน 70,000 บาท มาชำระเป็นค่าดอกเบี้ยแก่โจทก์เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2543 จำนวนเงิน 70,000 บาท คิดเป็นดอกเบี้ยได้ 2 ปี 8 เดือน จำเลยนำมาชำระให้โจทก์โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ จึงเป็นการชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระตั้งแต่แรก จนถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2538 ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม 2545 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยค้างส่งเกิน 5 ปี ไม่ได้ ต้องห้ามมิให้เรียกตามกฎหมาย เท่ากับต่อสู้ว่าหนี้ดอกเบี้ยเกิน 5 ปี ขาดอายุความแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยนับแต่วันฟ้องย้อนหลังไปเป็นเวลา 5 ปี และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง จำเลยยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาและเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในทุนทรัพย์ 531,124.98 บาท เป็นเงิน 13,277.50 บาท กับเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 12,037.50 บาท นั้นไม่ถูกต้อง ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาคือ 481,250 บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาล 12,032.50 บาท จำเลยเสียค่าขึ้นศาลเกินมาทั้งชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา จึงต้องคืนส่วนที่เกินให้แก่จำเลย”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 1,245 บาท และค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 5 บาท แก่จำเลย ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 4,000 บาท แทนโจทก์.

Share