คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้ก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตและเป็นการฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ทั้งเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ เมื่อกรุงเทพมหานครได้พิจารณาและตราข้อบัญญัติไว้แล้ว อาคารที่ก่อสร้างขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อบัญญัติดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นโดยไม่มีความปลอดภัย
จำเลยก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับ อนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้สั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างตามมาตรา 40 และต่อมา ได้สั่งให้จำเลยรื้อถอนตามมาตรา 42 วรรคแรกแล้ว อาคารดังกล่าวก็จะต้องถูกรื้อถอน แม้พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับจำเลยโดยอ้างบทกฎหมายไม่ถูกต้องและเจ้าพนักงานเขตออกหมายเลขที่บ้านให้จำเลยโดยมิได้คัดค้านว่าจำเลยก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตก็ตาม
ผู้ควบคุมงานของจำเลยเป็นผู้รับทราบคำสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาท ก็ถือได้ว่าจำเลยได้ทราบด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่จำเลยก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต
การมอบอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทน เป็นการมอบอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 มาตรา 35 ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจมอบอำนาจที่ตนมีอยู่ให้หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดปฏิบัติราชการแทนตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ จึงไม่จำต้องปิดแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ทั้งไม่มีกฎหมายบังคับให้จำต้องมีพยานรับรองลายมือ ชื่อผู้มอบอำนาจด้วย จึงรับฟังเอกสารเป็นพยานได้
เมื่อพยานโจทก์คนสุดท้ายคอบคำถามติงแล้ว โจทก์ส่งเอกสารเป็นพยานต่อศาล แล้วให้พยานนั้นดูเอกสารดังกล่าว และพยานโจทก์แถลงประกอบเอกสาร ถือได้ว่าเป็นการซักถามพยานเมื่อได้ถามติงพยานเสร็จแล้ว แต่การที่ศาลชั้นต้นยอมให้โจทก์กระทำเช่นนั้น ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากศาลแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 117 วรรคสี่ จึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานได้
การที่หัวหน้าเขตซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มอบหมายงานโยธา ให้ผู้ช่วยหัวหน้าเขตเป็นผู้ควบคุมรับผิดชอบสั่งการแทนหัวหน้าเขตได้ เป็นการมอบให้ปฏิบัติราชการแทนตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 มาตรา 17 ให้อำนาจไว้ ไม่เป็นการมอบอำนาจช่วง ผู้ช่วยหัวหน้าเขตมีอำนาจลงลายมือชื่อในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ และหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ก็รับฟังเป็นพยานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และโจทก์ได้มอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทน ตามคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ ๒๖๔๓/๒๕๒๒ และที่ ๔๐๘๔/๒๕๒๔ จำเลยยื่นหนังสือขออนุญาตต่อโจทก์ เพื่อก่อสร้างอาคารตึกแถวสามชั้นจำนวน ๓ หลัง โดยขอสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๖๐๒ และ ๒๘๑๑ หัวหน้าเขตคลองสานได้ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยปลูกสร้างอาคารโดยกำหนดให้ปลูกสร้างตามแผนผังและแบบก่อสร้างท้ายหนังสืออนุญาตรวม ๔ แผ่น ครั้นวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๓ เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าจำเลยก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบก่อสร้างที่ได้รับอนุญาต รายละเอียดปรากฏตามแผนผังท้ายฟ้อง อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๗๖ (๓) ผู้รักษาราชการแทนหัวหน้าเขตคลองสานได้สั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างและร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีแก่จำเลย พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้ว ต่อมาผู้รักษาราการแทนหัวหน้าเขตคลองสาน ได้สั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ก่อสร้างฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร แก่จำเลยไม่ยอมรื้อถอนและแก้ไขทั้งไม่อุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คงก่อสร้างต่อไปจนแล้วเสร็จ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความปลอดภัยการป้องกันอัคคีภัย การสัญจรไปมา และการรักษาอาคารให้เป็นระเบียบ จำเลยขออกหมายเลขที่บ้านต่อเจ้าพนักงานรวม ๘ ห้อง แล้วจำเลยโอนขายให้แก่ผู้มีชื่อแล้ว ๔ ห้อง คงเหลืออีก ๔ ห้อง คืออาคารห้องเลขที่ ๗๖๑/๗๗, ๗๖๑/๗๘, ๗๒๑/๗๙ และ ๗๖๑/๘๔ ขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารห้องเลขที่ ๗๖๑/๗๗/, ๗๖๑/๗๘, ๗๖๑/๗๙ ส่วนที่เกินออกไปเพื่อให้มีที่ว่างด้านหน้าอาคาร ๖ เมตร และรื้อถอนอาคารห้องเลขที่ ๗๓๑/๘๔ ส่วนที่เกินออกไป เพื่อให้มีที่ว่างด้านหน้าอาคาร ๖ เมตร และรื้อถอนอาคารห้องเลขที่ ๗๖๑/๘๔ สอนที่เกินออกไป เนื่องให้มีที่ว่างด้านหน้าอาคาร ๗ เมตร หากไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์รื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายแทนโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย จำเลยปลูกสร้างอาคารรวม ๑๓ ห้องตามฟ้อง แต่มิได้ก่อสร้างผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจำเลยไม่เคยได้รับหนังสือที่สังให้จำเลยระงับการก่อสร้าง ลายมือชื่อผู้รับเอกสารไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลย จำเลยถูกพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบในข้อหาฐานดัดแปลงอาคารโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๒ และ ๖๕ มิใช่ความผิดตาม มาตรา ๓๑,๔๐ และ ๔๒ ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง เมื่อจำเลยก่อสร้างอาคารเสร็จได้ไปขอหมายเลขที่บ้านต่อเจ้าพนักงานเขตคลองสาน เจ้าพนักงานก็ออกหมายเลขที่บ้านให้โดยมิได้คัดค้านว่าจำเลยก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตแต่อย่างใด อาคารที่จำเลยก่อสร้างมิได้กระทบกระเทือนต่อความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสัญจรไปมาและการรักษาอาคารให้เป็นระเบียบตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต คือ อาคาร บี. ห้องเลขที่ ๗๖๑/๗๗ , ๗๖๑/๗๘, ๗๖๑/๗๙ ส่วนที่เกินออกไป เพื่อให้มีที่ว่างด้านหน้าอาคารถึง ๖ เมตร และอาคารซี. ห้องเลขที่ ๗๖๑/๔๔ ส่วนที่เกินออกไป เพื่อให้มีที่ว่างด้านหน้าอาคารถึง ๗ เมตร หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำที่ว่างด้านหน้าอาคารทั้งสี่ห้องดังกล่าว ก็ให้โจทก์รื้อถอนได้เอง โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๒
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้สั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างตามมาตรา ๔๐ และต่อมาได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนตามมาตรา ๔๒ วรรคแรกแล้ว ผู้ควบคุมงานของจำเลยเป็นผู้รับทราบคำสั่งให้รื้อถอนอาคารพิพาท ก็ถือได้ว่าจำเลยได้รับทราบด้วย อาคารดังกล่าวก็จะต้องถูกรื้อถอน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่จำเลยก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต แม้พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับจำเลยโดยอ้างบทกฎหมายไม่ถูกต้อง และเจ้าพนักงานเขตออกหมายเลขที่บ้านให้จำเลยโดยมิได้คัดค้านว่าจำเลยก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต
การมอบอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทน เป็นการมอบอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๕ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจมอบอำนาจที่ตนมีอยู่ให้หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดปฏิบัติราชการแทนตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ จึงไม่จำต้องปิดแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ทั้งไม่มีกฎหมายบังคับให้จำต้องมีพยานรับรองลายมือชื่อผู้มอบอำนาจด้วย จึงรับฟังเอกสารเป็นพยานได้และการที่หัวหน้าเขตซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มอบหมายงานโยธาให้ผู้ช่วยหัวหน้าเขตเป็นผู้ควบคุมรับผิดชอบสั่งการแทนหัวหน้าเขตได้ เป็นการมอบให้ปฏิบัติราชการแทนตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๗ ให้อำนาจไว้ไม่เป็นการมอบอำนาจช่วง ผู้ช่วยหัวหน้าเขตมีอำนาจลงลายมือชื่อในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ และหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ก็รับฟังเป็นพยานได้
ที่จำเลยฎีกาว่า สำเนาคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนรับฟังเป็นพยานไม่ได้นั้น นายเรวัตพยานโจทก์เบิกความว่า ในการให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ ๒๖๔๓/๒๕๒๒ และที่ ๔๐๘๘/๒๕๒๔ ตามเอกสารหมาย จ. ๑ และ จ. ๒ ตามลำดับ ความจริงเอกสารหมาย จ. ๑ เป็นคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ ๓๐๖๔/๒๕๒๔ ไม่ใช่คำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ ๒๖๔๓/๒๕๒๒ แต่เมื่อนายชาญชัยพยานโจทก์คนสุดท้ายตอบคำถามติงแล้ว โจทก์ส่งคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ ๒๖๔๓/๒๕๒๒ เป็นพยานต่อศาล ศาลหมาย จ. ๑๕ แล้ว โจทก์ให้นายชาญชัยดูเอกสารหมาย จ. ๑๕ เมื่อดูแล้วนายชาญชัยแถลงว่าเป็นสำเนาคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทน เห็นว่า แม้การที่โจทก์ส่งเอกสาร หมาย จ.๑๕ เป็นพยานต่อศาล และให้นายชาญชัยดูเอกสารดังกล่าวแล้ว นายชาญชัยแถลงประกอบเอกสาร จะถือได้ว่าเป็นการซักถามพยานเมื่อได้ถามติงพยานเสร็จแล้ว แต่การที่ศาลชั้นต้นยอมให้โจทก์กระทำเช่นนั้น ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๑๗วรรคสี่ จึงรับฟังเอกสารหมาย จ. ๑๕ เป็นพยานได้
จำเลยเป็นผู้ก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตทั้งเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ส่วนการก่อสร้างอาคารจะมีความปลอดภัยแก่การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม การอำนวยความสะดวกแก่การจราจร ตลอดจนการอื่นที่จำเป็นหรือไม่เป็นเรื่องที่ กรุงเทพมหานครจะเป็นผู้พิจารณา เมื่อกรุงเทพมหานครได้พิจารณาและตราข้อบัญญัติไว้แล้ว อาคารที่ก่อสร้างขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อบัญญัติดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นโดยไม่มีความปลอดภัย
ที่จำเลยฎีกาว่า เขตคลองสานยินยอมให้จำเลยโอนขายอาคาร เอ. อาคาร บี. และอาคาร ซี. บางห้องให้แก่บุคคลภายนอกเท่ากับว่าเขตคลองสายมิได้ทักท้วงหรือคัดค้านว่าจำเลยก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตนั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share