คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7376/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้องว่า จำเลยชำระค่าจ้างก่อสร้างอาคารหลังจากลดและเพิ่มงานตามสัญญาทั้งหมดแล้วเป็นเงิน 109,276,111.73 บาท ต่อมาจำเลยชำระค่าจ้างให้โจทก์อีก 96,258,403.99 บาท คงค้างชำระค่าจ้างอยู่ 7,951,475.95 บาท และโจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่า ในการชำระเงินค่าจ้างแต่ละงวดจำเลยหักค่าจ้างไว้ร้อยละ 5 เพื่อเป็นประกันผลงานรวมทั้งสิ้น 5,066,231.79 บาท เมื่อคำนวณแล้วจะเห็นได้ว่ายอดเงินไม่ตรงกับที่โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้อง ทั้งไม่ตรงกับยอดเงินตามเอกสารท้ายฟ้อง คำฟ้องในส่วนนี้ไม่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ทำให้จำเลยไม่อาจเข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้อง จึงเคลือบคลุม

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกบริษัทแกรนด์ ควอลิตี้ คอนสตรัคชั่น จำกัด ว่าโจทก์ที่ 1 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 และเรียกบริษัทซัคเซส เรียลเอสเตท จำกัด ว่าจำเลย
โจทก์ที่ 1 ฟ้องในสำนวนแรกและให้การในสำนวนหลังทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ที่ 1 ก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 15 ชั้น จำนวน 1 หลัง บนที่ดินโฉนดเลขที่ 118778 ถนนเพชรเกษม แขวงบางแค เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 500 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2535 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2537 ตกลงค่าจ้างเหมารวมค่าแรงงานและค่าวัสดุเป็นเงิน 116,953,000 บาท ชำระค่าจ้างเป็นงวดๆ ตามผลงานในระหว่างดำเนินงานตามสัญญาจำเลยมีคำสั่งให้ลดงานตามสัญญาและเพิ่มงานบางส่วน ทำให้ค่าจ้างลดลงเหลือเพียง 109,276,111.73 บาท จำเลยขยายระยะเวลาส่งมอบงานออกไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2537 จำเลยยังสั่งให้โจทก์ที่ 1 ทำงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาอีกหลายรายการ โดยจำเลยขยายระยะเวลาส่งมอบงานออกไปอีกจนถึงภายในเดือนธันวาคม 2537 โจทก์ที่ 1 ทำงานแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้จำเลยเรียบร้อยในวันที่ 19 ธันวาคม 2537 จำเลยไม่เคยโต้แย้งการส่งมอบงานและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 เรื่อยมาถึงเดือนกรกฎาคม 2537 รวม 23 งวด คิดเป็นเงิน 96,258,403.99 บาท คงค้างชำระค่าจ้างเป็นเงิน 7,951,475,95 บาท กับจำเลยไม่คืนเงินค่าประกันผลงานที่จำเลยหักไว้อัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้างคิดเป็นเงิน 5,066,231.79 บาท ซึ่งจำเลยต้องใช้คืนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 13,017,707.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,951,475.95 บาท นับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ส่งมอบงานเป็นต้นไป คิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 293,210 บาท และของต้นเงิน 5,066,231.79 บาท นับแต่วันครบกำหนด 90 วัน หลังจากส่งมอบงานเป็นต้นไปคิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 91,825 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 13,402,742.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 13,017,707.74 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ที่ 1 เพราะโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบงานล่าช้าและจำเลยรับมอบงานโดยไม่โต้แย้ง จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับจากโจทก์ที่ 1 อย่างไรก็ตามค่าปรับที่จำเลยฟ้องมานั้นสูงเกินความจริง ค่าปรับหากจะมีก็ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งจำเลยไม่มีความจำเป็นต้องรื้อแผ่นหินแกรนิตแล้วติดตั้งใหม่ โจทก์ที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด หากจำเลยจะซ่อมแซมแผ่นหินแกรนิตก็ใช้เงินไม่เกิน 10,000 บาท ขอให้ยกฟ้องของจำเลยในสำนวนหลัง
โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังให้การว่า โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยออกหนังสือค้ำประกันเลขที่ 04/38/50002 ลงวันที่ 4 มกราคม 2538 ให้ไว้แก่จำเลยจริง แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญาเพราะโจทก์ที่ 1 ส่งมอบงานให้จำเลยตามสัญญาโดยไม่ชำรุดบกพร่อง จำเลยไม่ได้ว่าจ้างให้บุคคลอื่นติดตั้งหินแกรนิตใหม่ ค่าเสียหายส่วนนั้นสูงเกินส่วน การค้ำประกันของโจทก์ที่ 2 เป็นการประกันความเสียหายซึ่งเกิดจากผลงานของโจทก์ที่ 1 ชำรุดบกพร่อง เป็นความรับผิดร่วมกับโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่ความรับผิดต่างหาก จำเลยจึงไม่อาจมีคำขอให้โจทก์ที่ 2 รับผิดอีกต่างหากจำนวน 5,457,008 บาท ได้ ขอให้ยกฟ้องของจำเลยในสำนวนหลัง
โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังให้การว่า โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยออกหนังสือค้ำประกันเลขที่ 04/38/50002 ลงวันที่ 4 มกราคม 2538 ให้ไว้แก่จำเลยจริง แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญาเพราะโจทก์ที่ 1 ส่งมอบงานให้จำเลยตามสัญญาโดยไม่ชำรุดบกพร่อง จำเลยไม่ได้ว่าจ้างให้บุคคลอื่นติดตั้งหินแกรนิตใหม่ ค่าเสียหายส่วนนั้นสูงเกินส่วน การค้ำประกันของโจทก์ที่ 2 เป็นการประกันความเสียหายซึ่งเกิดจากผลงานของโจทก์ที่ 1 ชำรุดบกพร่อง เป็นความรับผิดร่วมกับโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่ความรับผิดต่างหาก จำเลยจึงไม่อาจมีคำขอให้โจทก์ที่ 2 รับผิดอีกต่างหากจำนวน 5,457,008 บาท ได้ ขอให้ยกฟ้องของจำเลยในสำนวนภายหลัง
จำเลยให้การและฟ้องในสำนวนหลังทำนองเดียวกันว่า จำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 บกพร่อง จำเลยไม่มั่นใจในการติดตั้งหินแกรนิตในจุดอื่นๆ ว่าจะไม่ตกหล่นลงมาอีก จึงแจ้งให้โจทก์ที่ 1 ถอดแผ่นหินแกรนิตออกทั้งหมดแล้วติดตั้งใหม่ โจทก์ที่ 1 เพิกเฉย จำเลยแจ้งโจทก์ที่ 1 ว่าจำเลยจะถอดแผ่นหินแกรนิตที่โจทก์ที่ 1 ติดตั้งใหม่ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบว่าติดตั้งโดยแข็งแรงปลอดภัยหรือไม่ เมื่อจำเลยให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบพบว่าแผ่นหินแกรนิตที่บุผนังด้านนอกอาคารชั้นที่ 14 ด้านทิศตะวันตกมีท่าทีว่าจะร่วงหล่นลงมาอีก จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ 1 แก้ไข แต่โจทก์ที่ 1 เพิกเฉยจำเลยจึงต้องจัดหาผู้รับเหมารายใหม่เข้าดำเนินการรื้อถอนแผ่นหินแกรนิตที่ติดตั้งผนังภายนอกอาคารทั้งหมดแล้วติดตั้งใหม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 5,787,281.39 บาท การกระทำของโจทก์ที่ 1 ทำให้จำเลยเสียหาย โจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายเป็นค่าปรับที่ส่งมอบงานล่าช้าเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.05 ของค่าจ้าง รวม 232 วัน เป็นเงิน 13,566,548 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าปรับ นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2537 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ที่ 1 ส่งมอบงานเป็นต้นไปด้วย ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,017,491 บาท และโจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าติดตั้งหินแกรนิตใหม่เป็นเงิน 5,787,281.39 บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 จะต้องชำระแก่จำเลยทั้งสิ้น 20,371,320.39 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโจทก์ที่ 1 ตกลงจะชำระให้จำเลย 5,457,008 บาท ตามหนังสือค้ำประกัน ฉบับลงวันที่ 4 มกราคม 2538 หากโจทก์ที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างด้วย ฟ้องโจทก์ที่ 1 ในสำนวนแรกไม่บรรยายว่าการปฏิบัติงานของโจทก์ที่ 1 ล่าช้าอย่างไร สาเหตุมาจากจำเลยอย่างไร เรื่องอะไร เมื่อใดและเหตุใด ทั้งในส่วนที่อ้างว่าจำเลยค้างชำระค่าจ้างก็ไม่บรรยายว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 ในงวดที่เท่าใด เป็นจำนวนกี่งวด แต่ละงวดมียอดเงินเท่ากันหรือไม่อย่างไร คงอ้างเพียงว่าค้างอยู่ 7,951,475.95 บาท จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้บังคับโจทก์ที่ 1 ชำระเงิน 20,371,320.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 13,566,548 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ให้โจทก์ที่ 2 ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน 5,457,008 บาท แก่จำเลย และให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ชำระเงิน 6,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องในสำนวนหลังต้องไม่เกิน 1,017,491 บาท โดยให้โจทก์ที่ 2 ร่วมรับผิดกับโจทก์ที่ 1 ชำระเงินให้จำเลยจำนวน 5,457,008 บาท ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยในสำนวนหลัง ให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยในสำนวนแรก โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองสำนวนรวมกันเป็นเงิน 20,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ในสำนวนแรก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย 15,000 บาท
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาวินิจฉัยข้อแรกมีว่า ฟ้องโจทก์ที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินค่าจ้างที่ค้างชำระและเงินค้ำประกันผลงานเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้องว่า จำเลยชำระค่าจ้างหลังจากลดและเพิ่มงานตามสัญญาทั้งหมดแล้วเป็นเงิน 109,276,111.73 บาท ต่อมาจำเลยชำระค่าจ้างให้โจทก์แล้ว 96,258,403.99 บาท คงค้างชำระค่าจ้างอยู่ 7,951,475.95 บาท และโจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่า ในการชำระเงินค่าจ้างแต่ละงวดจำเลยหักค่าจ้างไว้ร้อยละ 5 เพื่อเป็นประกันผลงานรวมทั้งสิ้น 5,066,231.79 บาท เมื่อคำนวณแล้วจะเห็นได้ว่ายอดเงินไม่ตรงกับที่โจทก็ที่ 1 บรรยายฟ้อง ทั้งไม่ตรงกับยอดเงินตามเอกสารท้ายฟ้อง หมายเลย 10 ฟังได้ว่าคำฟ้องในส่วนนี้ไม่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ทำให้จำเลยไม่อาจเข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้อง คำฟ้องในส่วนนี้จึงเคลือบคลุม ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในส่วนนี้ชอบแล้ว”
พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจำเลย 25,000 บาท

Share