คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7568/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยใช้เหล็กขูดชาฟท์ยาว 1 คืบ แทงที่บริเวณลิ้นปี่ของผู้เสียหายนั้นอาจเป็นความผิดฐานทำร้ายร่ายกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือรับอันตรายสาหัส หรือพยายามฆ่าผู้อื่นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เมื่อพนักงานสอบสวนได้สอบสวนถึงการกระทำนั้นของจำเลย ทั้งมีการแจ้งข้อหาแก่จำเลยตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 แล้ว แต่การแจ้งข้อหาก็หาได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนจำต้องแจ้งข้อหา ทุกกระทงความผิดที่เกี่ยวกับการกระทำอันเดียวกันไม่ ซึ่งในการสอบสวนจำเลยครั้งแรกพนักงานสอบสวนได้แจ้ง ข้อหาฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจให้จำเลยทราบแล้วว่าคำให้การอาจใช้ยันจำเลย ในชั้นพิจารณาของศาลได้และจำเลยให้การปฏิเสธ แม้จะมีการสอบสวนโดยแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยอีกสองครั้ง แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งแก่จำเลยว่าคำให้การเพิ่มเติมอาจใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้ มิได้ทำให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเป็นการไม่ชอบเพราะบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 เพียงแต่บัญญัติว่าคำให้การจำเลยไม่อาจใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้เท่านั้น ซึ่งตามคำให้การเพิ่มเติมของจำเลยอีกสองครั้ง ก็มีเพียงว่า ขอให้การปฏิเสธตามที่ให้การในครั้งแรก จึงไม่มีข้อความใดที่จะใช้ยันจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๘๐, ๒๘๘ ริบของกลาง
จำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๓ พนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ โดยแจ้งให้จำเลยทราบว่า ถ้อยคำที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนอาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในชั้นพิจารณาของศาลได้ จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๓ พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาจำเลยเพิ่มเติมจากทำร้ายร่างกายผู้อื่น (นายสินชัย ศรีแป๊ะบัว) ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจเป็นทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำเลยให้การปฏิเสธ ครั้นวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๓ พนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยเพิ่มเติมอีก โดยแจ้งข้อหาจากทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสเป็นพยายามฆ่าผู้อื่น (นายสินชัย ศรีแป๊ะบัว) จำเลยให้การปฏิเสธ โดยในการสอบสวนเพิ่มเติมทั้งสองครั้งพนักงานสอบสวนมิได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าถ้อยคำที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนอาจใช้เป็นหลักฐานยันจำเลยในชั้นพิจารณาของศาลได้ รายละเอียดปรากฏตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ. ๖ มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าในการสอบสวนเพิ่มเติมทั้งสองครั้ง พนักงานสอบสวนมิได้แจ้งเตือนจำเลยว่า ถ้อยคำที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนอาจใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาของศาลได้ เป็นการสอบสวนที่ชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยใช้เหล็กขูดชาฟท์ยาว ๑ คืบ แทงที่บริเวณลิ้นปี่ของผู้เสียหายนั้นอาจเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือรับอันตรายสาหัส หรือพยายามฆ่าผู้อื่นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เมื่อพนักงานสอบสวน ได้สอบสวนถึงการกระทำนั้นของจำเลย ทั้งมีการแจ้งข้อหาแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๔ แล้ว แต่การแจ้งข้อหาก็หาได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนจำต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิดที่เกี่ยวกับ การกระทำอันเดียวกันไม่ ซึ่งในการสอบสวนจำเลยครั้งแรกพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับ อันตรายแก่กายหรือจิตใจให้จำเลยทราบแล้วว่าคำให้การอาจใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาของศาลได้และจำเลยให้การปฏิเสธ แม้จะมีการสอบสวนโดยแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยอีกสองครั้ง แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งแก่จำเลยว่า คำให้การเพิ่มเติมอาจใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้ ก็มิได้ทำให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเป็นการไม่ชอบ เพราะบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๔ เพียงแต่บัญญัติว่าคำให้การจำเลยไม่อาจใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้เท่านั้น ซึ่งตามคำให้การเพิ่มเติมจำเลยอีกสองครั้งก็มีเพียงว่าขอให้การปฏิเสธตามที่ให้การ ในครั้งแรก จึงไม่มีข้อความใดที่จะใช้ยันจำเลย ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ วินิจฉัยว่า การสอบสวนชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share