คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 388/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131(2)ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่ง และมาตรา 148(3) เป็นข้อยกเว้นในเรื่องฟ้องซ้ำกรณีเมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกคำฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและขอให้บังคับจำนองแก่ที่ดินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งจำเลยให้การต่อสู้หลายประการ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวินิจฉัยชี้ขาดไปตามประเด็นแห่งคดีตามมาตรา 131(2) ได้ โดยคำพิพากษาในประเด็นแห่งคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่นั้นมีประเด็นเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยเพียงว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเพียงใด หาได้มีประเด็นว่าต้นเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีเพียงใดไม่ การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ไม่ได้อ้างส่งรายการบัญชีกระแสรายวันในวันที่ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงทำให้ไม่ทราบว่าวันดังกล่าวจำเลยมีหนี้ต้นเงินค้างชำระอยู่เพียงใด จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่นั้น ก็เพื่อให้โจทก์คิดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ได้ ซึ่งย่อมเป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายหาได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใดไม่ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2536 จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์เป็นเงิน 2,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี กำหนดชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 20 กรกฎาคม 2537 และวันที่ 24 สิงหาคม 2536 จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์อีกเป็นเงิน 1,500,000 บาทยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี กำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 20 กรกฎาคม 2537 โดยจำเลยตกลงใช้บัญชีกระแสรายวันเลขที่ 000-6-07676-3 และตกลงชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือน หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีของธนาคารพาณิชย์ และให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2536 จำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1640 ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ไว้แก่โจทก์วงเงิน 500,000 บาท และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 19 ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ในวงเงิน 1,500,000 บาท และวันที่ 24 สิงหาคม 2536 จำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 2800, 2801 และ 2802 ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบจังหวัดตราด ในวงเงิน 1,200,000 บาท โดยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18ต่อปี และยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมรับผิดชำระหนี้ที่ขาดจนครบ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2536 จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเรื่องขึ้นวงเงินจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1640 ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด อีกเป็นเงิน 100,000 บาท และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 19 ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด อีกเป็นเงิน 200,000 บาทต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 จำเลยทำบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2536 ลดวงเงินจำนวน 2,300,000 บาท คงเหลือยอดหนี้จำนวน 1,200,000 บาท โดยจำเลยได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 19 และที่ดินโฉนดเลขที่ 1640 ดังกล่าว วันที่ 8พฤศจิกายน 2537 จำเลยทำบันทึกข้อตกลงต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับลงวันที่21 กรกฎาคม 2536 ออกไปจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2538 และยืนยันว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวันดังกล่าวทั้งสิ้น 329,165.91 บาท จำเลยได้เดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมา ต่อมาเมื่อจำเลยผิดนัด โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว จำเลยเพิกเฉย เมื่อคิดถึงวันครบกำหนดบอกกล่าววันที่ 17 กันยายน 2540 จำเลยค้างชำระหนี้โจทก์รวมต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 1,705,054.28 บาท หลังจากนั้นโจทก์คิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยจากต้นเงิน 1,690,878.69 บาท อัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กันยายน 2540เป็นเวลา 1 วัน คิดเป็นดอกเบี้ย 833.88 บาท และ อัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19กันยายน 2540 จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 127,371.81 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น1,833,259.95 บาท (ที่ถูก 1,833,259.97 บาท) ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน1,833,259.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,690,878.69บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยให้การว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงเพียงวันที่ 20 กรกฎาคม 2537ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามสัญญา แม้หากศาลฟังว่าจำเลยต่ออายุสัญญาออกไปจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2538 โจทก์ก็ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันที่ 17 กันยายน2540 ยอดเงินตามฟ้องสูงเกินความเป็นจริงและไม่ถูกต้องอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดมาเป็นเบี้ยปรับไม่น่าจะเกินร้อยละ 9 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า หากศาลชั้นต้นจะไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ก็ไม่ควรที่จะวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีทั้งหมดแล้ว เท่ากับเป็นการชี้ข้อบกพร่องของพยานหลักฐานของโจทก์ จึงทำให้จำเลยเสียเปรียบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 131(2) บัญญัติให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องประเด็นแห่งคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่ง และมาตรา 148(3) บัญญัติเป็นข้อยกเว้นในเรื่องฟ้องซ้ำในกรณีเมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกคำฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและขอให้บังคับจำนองแก่ที่ดินอันเป็นหลักประกัน จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการ เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานเสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวินิจฉัยชี้ขาดไปตามประเด็นแห่งคดีตามบทบัญญัติของมาตรา 131(2) ได้ เฉพาะอย่างยิ่งคำพิพากษาในประเด็นแห่งคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่นั้น มีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับดอกเบี้ยเพียงว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเพียงใด หาได้มีประเด็นไปถึงว่าต้นเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีเพียงใดไม่ การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดลงในวันครบกำหนดตามสัญญา คือวันที่ 20กรกฎาคม 2538 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ จนถึงวันดังกล่าวและมีสิทธิคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นนับถัดจากวันที่ 20 กรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป เมื่อการ์ดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.17 รวม 3 แผ่น ที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยาน มีรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 เท่ากับโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าในวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง จำเลยค้างชำระหนี้โจทก์เป็นต้นเงินเท่าใดศาลชั้นต้นจึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอบังคับท้ายฟ้องของโจทก์ได้ กรณีเช่นนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์บกพร่องไม่นำพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีมาสืบหรือนำสืบได้ไม่ครบถ้วน หากแต่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ได้อ้างส่งรายการบัญชีกระแสรายวันในวันที่ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง ทำให้ไม่ทราบว่าในวันดังกล่าวจำเลยมีหนี้ต้นเงินค้างชำระอยู่เพียงใด ซึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ ก็เพื่อให้โจทก์คิดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ได้ ซึ่งย่อมเป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายหาได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่ประการใดไม่ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share