แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้ลูกจ้างทำงานวันละ 3 กะ แต่ในทางปฏิบัติให้ทำงานวันละ 2 กะเป็นส่วนใหญ่โดยให้ทำกะละ 12 ชั่วโมง จำนวน 8 ชั่วโมงแรกเป็นการทำงานปกติ พัก 1 ชั่วโมง อีก 3 ชั่วโมงเป็นการทำงานล่วงเวลา การที่โจทก์มีคำสั่งให้จำเลยร่วมกับพวกซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องทำงานวันละ 3 กะ แม้จะเป็นสิทธิของโจทก์จะสั่งได้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแต่ก็เป็นการเลือกปฏิบัติเพื่อบีบคั้นไม่ให้ทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ยื่นข้อเรียกร้องหรือเป็นตัวแทนเจรจาอันถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121(1) การที่จำเลยได้มีคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ให้โจทก์เปลี่ยนแปลงเวลาทำงานสำหรับจำเลยร่วมกับพวกเป็นเวลาการทำงานตามเดิมและวินิจฉัยว่าการสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาเป็นสิทธิของนายจ้างที่จะพิจารณาสั่งให้ทำหรือไม่ก็ได้ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 และไม่มีกฎหมายรองรับให้จำเลยออกคำสั่งบังคับให้โจทก์สั่งให้จำเลยร่วมกับพวกทำงานล่วงเวลาได้จึงเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2543 นางสาววิไลพร วงศ์แก้วกับพวกรวม 4 คน และวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 นางพเยาว์ ทับแสง กับพวกรวม 31 คน ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่าโจทก์กลั่นแกล้งเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานและไม่ให้ทำงานล่วงเวลาจนไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้ เพราะเหตุผู้กล่าวหาทั้ง 35 คน ลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้อง โดยผู้กล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นผู้แทนเจรจาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จำเลยทั้งสิบสองวินิจฉัยชี้ขาดแล้วโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งข้อ 2 ของจำเลยทั้งสิบสองที่ให้โจทก์เปลี่ยนแปลงเวลาทำงานของผู้กล่าวหาที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 15 ที่ 17 ที่ 19 ถึงที่ 35 เป็นเวลาทำงานตามเดิม ที่โจทก์มีคำสั่งที่ 009/2543 และคำสั่งที่ 010/2543 ให้พนักงานทำงาน 3 กะ เพื่อการผลิตให้เพียงพอกับคำสั่งซื้อของลูกค้าโดยให้เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปี 2543 และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเพราะการทำงาน 3 กะเป็นคุณแก่ลูกจ้าง ขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 87-121/2544 ของจำเลยทั้งสิบสองข้อ 2 ในส่วนของผู้กล่าวหาที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 15 ที่ 19 ถึงที่ 35
จำเลยทั้งสิบสองให้การว่า คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 87-121/2544ของจำเลยทั้งสิบสองชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ผู้กล่าวหาทั้ง 35 คนได้ร่วมกับพนักงานอื่นรวม 181 คน ลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้องฉบับลงวันที่ 5 กันยายน 2543 ต่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ระหว่างเจรจาข้อเรียกร้องโจทก์ได้ให้พนักงานที่ร่วมลงลายมือชื่อถอนชื่อออกจากข้อเรียกร้อง โดยจะเพิ่มสวัสดิการให้ พนักงานจึงได้ถอนชื่อออกจากข้อเรียกร้องไป 127 คน โจทก์กับพนักงานที่ยื่นข้อเรียกร้องและไม่ยอมถอนชื่อได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 ต่อมาโจทก์มีคำสั่งให้พนักงาน 47 คน ซึ่งได้ร่วมลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้องทำงาน 3 กะ ส่วนผู้ที่ไม่ร่วมลงลายมือชื่อและผู้ถอนชื่อออกจากข้อเรียกร้องไม่ต้องทำงาน 3 กะ จำเลยทั้งสิบสองเห็นว่าโจทก์เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเฉพาะกลุ่มพนักงานที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องโดยลูกจ้างไม่ยินยอม แม้ข้อบังคับการทำงานของโจทก์จะกำหนดเวลาทำงานเป็น 3 กะแต่ทางปฏิบัติโจทก์ให้ลูกจ้างทำงาน 2 กะตลอดมา โจทก์เปลี่ยนแปลงเวลาทำงานเพื่อกลั่นแกล้งลูกจ้างที่ร่วมลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้องคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสิบสองชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาผู้กล่าวหา 31 คน ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการหลักคือ ทอผ้ายืด เสื้อผ้าและสิ่งทออื่น ๆ เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศโดยจดทะเบียนและดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2516 เรื่อยมาจำเลยร่วมทั้ง 31 คน เป็นลูกจ้างของโจทก์อยู่แผนกต่าง ๆ กัน เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2543 ลูกจ้างของโจทก์กลุ่มหนึ่งได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์เพื่อขอเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์และสภาพการจ้างให้ดีขึ้น มีข้อเรียกร้อง 10 ข้อ โดยมีผู้แทนเจรจา 5 คน และที่ปรึกษา2 คน มีผู้ร่วมลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้อง 181 คน รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 ต่อมามีลูกจ้างถอนชื่อออกจากการยื่นข้อเรียกร้องลงเหลือ 54 คน และในที่สุดเหลือ 35 คน จนถึงวันที่ 13 กันยายน 2543 โจทก์และตัวแทนฝ่ายลูกจ้างได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นตามเอกสารหมาย ล.6 ก่อนที่จะทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2543 กรรมการผู้จัดการโจทก์ได้ออกหนังสือขอบคุณแก่ลูกจ้างที่ถอนชื่อจากข้อเรียกร้องตามเอกสารหมาย ล.4 ล.5 และ ล.7 หลังจากทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย ล.6 แล้ว รุ่งขึ้นวันที่ 14 กันยายน 2543 โจทก์ได้ออกคำสั่งที่ 009/2543 และ 010/2543 ให้ลูกจ้าง 47 คน ต้องทำงาน 3 กะ ตามคำสั่งในสำนวนคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หน้า 128-131 ลูกจ้างที่ต้องทำงาน 3 กะ ดังกล่าวเป็นลูกจ้างที่ร่วมยื่นข้อเรียกร้อง จำเลยร่วม 31 คน อยู่ในกลุ่มลูกจ้างที่ต้องทำงาน 3 กะทั้งสิ้น ส่วนลูกจ้างที่ไม่ได้ร่วมลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้องและผู้ที่ได้ร่วมลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้องแต่ได้ถอนชื่อจากข้อเรียกร้องไปก่อนยังคงทำงาน 2 กะ ตามเดิม ก่อนที่จะทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 13 กันยายน 2543 เอกสารหมาย ล.6 โจทก์กับสหภาพแรงงานไทยสิ่งทอได้มีบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างลงวันที่ 10 กันยายน 2541 ใช้บังคับอยู่ปรากฏในสำนวนคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หน้า 132-134 โจทก์มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ใช้บังคับอยู่ปรากฏในสำนวนคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หน้า 137-143 จำเลยร่วมทั้ง 31 คน กับพวกอีก 4 คน รวม 35 คน ได้ยื่นคำร้องกล่าวหาว่าโจทก์ได้กระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อจำเลยร่วมกับพวกโดยฝ่าฝืนมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้รับคำร้อง ฟังคำชี้แจงบันทึกปากคำและรับเอกสารทั้งสองฝ่ายแล้วมีคำวินิจฉัยชี้ขาดโดยจำเลยทั้งสิบสองปรากฏตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 87-121/2544 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ หมวด 3 ข้อ 1 โจทก์มีสิทธิกำหนดให้ลูกจ้างทำงาน 3 กะได้ แต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 10 กันยายน 2541และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 13 กันยายน 2543 เพียงตกลงและเปลี่ยนแปลงตามอัตราสวัสดิการค่าเข้ากะไว้เท่านั้น มิได้ตกลงว่าโจทก์จะต้องให้ลูกจ้างทำงาน 3 กะ ในทางปฏิบัติที่ผ่าน ๆ มาโจทก์ให้ลูกจ้างทำงาน 2 กะเป็นส่วนใหญ่ การทำงาน 2 กะ จะทำกะละ 12 ชั่วโมง โดย 8 ชั่วโมง เป็นการทำงานปกติ พัก 1 ชั่วโมงส่วนอีก 3 ชั่วโมง เป็นการทำงานล่วงเวลา ถ้าทำงาน 3 กะ จะทำงานกะละ 8 ชั่วโมง ไม่มีโอกาสทำงานล่วงเวลาและไม่สะดวกแก่ลูกจ้างที่เข้างานกะกลางคืน การทำงาน2 กะ จะมีรายได้มากกว่าทำงาน 3 กะ ข้อนี้ทางนางสาวธนพร ใบเตย พยานโจทก์ยอมรับทางปฏิบัติที่ผ่าน ๆ มา การทำงาน 3 กะ หรือ 2 กะ นั้น ลูกจ้างทุกคนก็ทำเหมือน ๆ กันไม่ได้แบ่งแยก ข้อเท็จจริงปรากฏว่าการยื่นข้อเรียกร้องเมื่อเดือนกันยายน 2543 นั้น มีลูกจ้างร่วมลงลายมือชื่อ 181 คน ต่อมาก็มีลูกจ้างถอนชื่อจากข้อเรียกร้องไปกว่าร้อยคนจนเหลือ54 คน และ 35 คน ตามลำดับ พยานฝ่ายจำเลยยืนยันว่าเหตุที่ลูกจ้างยอมถอนชื่อจากข้อเรียกร้องนั้นเนื่องจากโจทก์ให้หัวหน้างานไปเกลี้ยกล่อมให้ลูกจ้างถอนชื่อจากข้อเรียกร้อง โดยจะให้ประโยชน์แก่ผู้ถอนชื่อจากข้อเรียกร้องในลักษณะแทรกแซงการดำเนินการและการใช้สิทธิยื่นข้อเรียกร้องหลังจากที่ลูกจ้างถอนชื่อจากข้อเรียกร้องแล้ว โจทก์ก็มีหนังสือขอบคุณที่ลูกจ้างให้ความร่วมมือในการถอนชื่อจากข้อเรียกร้องตามเอกสารหมาย ล.4 ล.5 และ ล.7 การที่โจทก์ให้จำเลยร่วมทั้งสามสิบเอ็ดคนกับพวก ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องต้องทำงาน 3 กะ ต่างไปจากลูกจ้างที่ไม่ได้ร่วมลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้องและผู้ที่ถอนชื่อจากข้อเรียกร้องตามที่โจทก์เกลี้ยกล่อมโดยให้ทำงาน 2 กะซึ่งเป็นคุณกว่านั้น โจทก์มีเจตนากลั่นแกล้งให้จำเลยร่วมกับพวกดังกล่าวได้รับผลตอบแทนการทำงานและสิทธิประโยชน์ที่ต่ำกว่าเพื่อนร่วมงาน เป็นการสร้างความแตกแยก จงใจเลือกปฏิบัติเพื่อบีบคั้นจำเลยร่วมกับพวกอันเป็นผลให้จำเลยร่วมกับพวกไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างดังกล่าวยื่นข้อเรียกร้องหรือเป็นตัวแทนเจรจา เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 87-121/2544 ของจำเลยทั้งสิบสองชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ได้กระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อจำเลยร่วมทั้งสามสิบเอ็ดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121(1) หรือไม่ และกรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 87-121/2544 ข้อ 2 ของจำเลยทั้งสิบสองหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหมวด 3 ข้อ 1 กำหนดให้ลูกจ้างทำงานวันละ 3 กะ กะละ 8 ชั่วโมง ต่อมาได้มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 10 กันยายน 2541 และฉบับลงวันที่ 13 กันยายน2543 ตกลงให้เปลี่ยนแปลงอัตราสวัสดิการค่าเข้ากะ แต่มิได้ตกลงเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานจาก 3 กะเป็น 2 กะ ในทางปฏิบัติที่ผ่าน ๆ มาโจทก์ให้ลูกจ้างทำงาน 2 กะ เป็นส่วนใหญ่ การทำงาน 2 กะ จะทำกะละ 12 ชั่วโมง โดยจำนวน 8 ชั่วโมงแรกเป็นการทำงานปกติ พัก 1 ชั่วโมง ส่วนอีก 3 ชั่วโมง เป็นการทำงานล่วงเวลา เมื่อเดือนกันยายน2543 มีลูกจ้างร่วมลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้อง 181 คน ต่อมามีลูกจ้างถอนชื่อจากข้อเรียกร้องไปกว่าหนึ่งร้อยคนจนเหลือ 54 คน และ 35 คน ตามลำดับ หลังจากที่ลูกจ้างถอนชื่อจากข้อเรียกร้องแล้ว โจทก์มีหนังสือขอบคุณที่ลูกจ้างให้ความร่วมมือในการถอนชื่อจากข้อเรียกร้องตามเอกสารหมาย ล.4 ล.5 และ ล.7 เห็นว่า แม้โจทก์มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ให้ลูกจ้างทำงานวันละ 3 กะก็ตามแต่ในทางปฏิบัติโจทก์ให้ลูกจ้างทำงานวันละ 2 กะเป็นส่วนใหญ่โดยให้ทำกะละ 12 ชั่วโมง จำนวน 8 ชั่วโมงแรกเป็นการทำงานปกติ พัก 1 ชั่วโมง อีก 3 ชั่วโมงเป็นการทำงานล่วงเวลาดังนั้นการที่โจทก์มีคำสั่งที่ 009/2543 และที่ 010/2543 ลงวันที่ 14 กันยายน2543 ให้จำเลยร่วมทั้งสามสิบเอ็ดกับพวกซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องทำงานวันละ 3 กะซึ่งโจทก์สั่งในวันรุ่งขึ้นหลังจากโจทก์และจำเลยร่วมทั้งสามสิบเอ็ดกับพวกทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 13 กันยายน 2543 นั้น แม้จะเป็นสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจะสั่งได้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการเลือกปฏิบัติเพื่อบีบคั้นจำเลยร่วมทั้งสามสิบเอ็ดกับพวกให้ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้เพราะเหตุที่จำเลยร่วมทั้งสามสิบเอ็ดกับพวกยื่นข้อเรียกร้องหรือเป็นตัวแทนเจรจาอันถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 121(1) จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ได้มีคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 87-121/2544 ข้อ 2 ให้โจทก์เปลี่ยนแปลงเวลาทำงานสำหรับจำเลยร่วมทั้งสามสิบเอ็ดกับพวกเป็นเวลาการทำงานตามเดิม คือ ให้ทำงานวันละ 2 กะ กะแรกตั้งแต่เวลา 8 ถึง16.30 นาฬิกา และกะที่สองเวลา 20 ถึง 4.30 นาฬิกา ส่วนคำร้องขอของจำเลยร่วมทั้งสามสิบเอ็ดกับพวกให้โจทก์มอบหมายงานให้ทำงานล่วงเวลาเช่นเดียวกับพนักงานอื่น ๆนั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ได้วินิจฉัยในคำสั่งที่ 87-121/2544 ดังกล่าวแล้วว่า การสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลานั้นเป็นสิทธิของนายจ้างที่จะพิจารณาสั่งให้ทำหรือไม่ก็ได้ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และไม่มีกฎหมายรองรับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ออกคำสั่งบังคับให้โจทก์สั่งให้จำเลยร่วมทั้งสามสิบเอ็ดกับพวกทำงานล่วงเวลาได้ คำสั่งที่ 87-121/2544 ข้อ 2 ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องมานั้นศาลฎีกาเห็นด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน