คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1640/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บริษัทโจทก์ประกอบการค้าด้วยการผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรจำเลยประกอบพาณิชยกิจโดยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์นำไปจำหน่ายต่อให้ลูกค้าอีกต่อหนึ่งซึ่งต่อมาจำเลยค้างชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ การซื้อขายดังกล่าวมีลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(1) ตอนท้าย จึงมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33(5)
ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 กำหนดให้ตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี แต่บทบัญญัติมาตราดังกล่าวก็ให้อำนาจศาลที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมก็ได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้โจทก์แพ้คดีเป็นให้โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ มีผลเท่ากับโจทก์ชนะคดีทั้งสองศาล ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงมีอำนาจกำหนดให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ได้ด้วย ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและไม่เป็นการเกินคำขอ เพราะโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์อยู่แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 6 พฤษภาคม 2537 ถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2537จำเลยซื้อยากำจัดวัชพืชยี่ห้อกรัมม๊อกโซน ทัชดาวน์ แบนอิช วันไซด์ซูเปอร์และยาฆ่าแมลงยี่ห้อคาราเต้ จากโจทก์รวม 11 ครั้ง แต่ละครั้งมีกำหนดชำระเงินภายใน 90 วันนับแต่วันสั่งซื้อ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,951,516 บาท โจทก์ส่งสินค้าดังกล่าวให้จำเลยครบถ้วนแล้ว เมื่อถึงกำหนดชำระเงินแต่ละครั้งจำเลยมิได้ชำระเงินให้โจทก์ตามกำหนด เมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยจึงชำระให้บางส่วนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2538 จำนวน 320,000 บาทและโจทก์ให้ส่วนลดจำเลยอีก 387,408.80 บาท จำเลยยังค้างชำระเงินค่าสินค้าแก่โจทก์อีก 2,244,107.20 บาท ต่อมาจำเลยชำระค่าสินค้าบางส่วนแก่โจทก์โดยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาเลย เลขที่ 5864740 ลงวันที่ 24ธันวาคม 2538 สั่งจ่ายเงิน 511,620 บาท แก่โจทก์ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินที่ค้างชำระนับแต่วันที่ 10 มกราคม 2538 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดชำระเงินครั้งสุดท้ายคิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 490,898.45 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน2,735,005.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,244,107.20บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้สั่งซื้อยากำจัดวัชพืชและยาฆ่าแมลงจากโจทก์ทั้งไม่ได้รับสินค้าต่าง ๆ ตามฟ้อง เอกสารการส่งสินค้าเป็นเอกสารปลอม จำเลยไม่เคยเป็นหนี้โจทก์ โจทก์ไม่ฟ้องคดีภายในกำหนด 2 ปี นับแต่วันผิดนัด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 2,244,107.20 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 10 มกราคม 2538 จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 490,898.45 บาท ตามคำขอท้ายฟ้อง

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร จำเลยเป็นผู้จดทะเบียนและเป็นเจ้าของสวนราชพฤกษ์ซึ่งเป็นสวนผลไม้ปัจจุบันยังมิได้จดทะเบียนเลิกกิจการตามคำขอจดทะเบียนพาณิชย์เอกสารหมาย จ.4และจำเลยยังเป็นกรรมการของบริษัทราชาเกษตร จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยซื้อสินค้าตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.12 จากโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายบุญสรรค์ สินพรชัย ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์และเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความว่า เมื่อระหว่างวันที่6 พฤษภาคม 2537 ถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2537 จำเลยซื้อยากำจัดวัชพืชและยาฆ่าแมลงจากโจทก์รวม 11 ครั้ง โจทก์จัดส่งสินค้าในชื่อสวนราชพฤกษ์ให้จำเลยครบถ้วนแล้วโดยทางบริษัทขนส่ง ตามใบรับขนส่งสินค้าและใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.5 ถึงจ.12 มีข้อตกลงว่าจำเลยต้องชำระค่าสินค้าภายใน 90 วัน นับแต่วันสั่งซื้อรวมเป็นเงิน2,951,516 บาท แต่จำเลยไม่ชำระค่าสินค้าตามกำหนด โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยจึงชำระค่าสินค้าแก่โจทก์บางส่วนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2538 เป็นเงิน 320,000 บาทและโจทก์ให้ส่วนลดแก่จำเลยอีก 387,408.08 บาท ตามใบลดหนี้เอกสารหมาย จ.13คงเหลือหนี้ค้างชำระ 2,244,107.20 บาท โจทก์ทวงถามอีกหลายครั้ง จำเลยจึงสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาเลย ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2538จำนวนเงิน 511,620 บาท ชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15 โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามรวม 2 ครั้ง และจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 ส่วนจำเลยเบิกความว่า เมื่อปี 2530 จำเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานชมรมไม้ผลเมืองเลยทางชมรมตกลงให้บริษัทราชาเกษตร จำกัด ซึ่งจำเลยเป็นกรรมการเป็นผู้สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ ส่วนกิจการสวนราชพฤกษ์จำเลยโอนไปให้น้องชายดำเนินการแทนโดยจำเลยมิได้เกี่ยวข้องกับกิจการสวนราชพฤกษ์อีก จำเลยไม่ได้สั่งซื้อและมิได้รับสินค้าตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.12 เนื่องจากเมื่อสมาชิกชมรมนำสินค้าที่บริษัทราชาเกษตร จำกัดสั่งซื้อจากบริษัทไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด มาใช้เป็นเหตุให้ต้นไม้และพันธุ์ไม้ผลเสียหายเป็นเงินประมาณ 4,000,000 บาท บริษัทราชาเกษตร จำกัด จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด ในที่สุดตกลงกันได้ บริษัทราชาเกษตร จำกัด จึงถอนฟ้องและเมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วบริษัทราชาเกษตร จำกัด ได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือทั้งหมดด้วยตั๋วแลกเงินของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ตามเอกสารหมาย ล.1 ส่วนเช็คเอกสารหมาย จ.14 ภริยาจำเลยสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ของบริษัทราชาเกษตร จำกัด ซึ่งเป็นหนี้จากการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์หลังจากมีการชำระหนี้ด้วยตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย ล.1 ไปแล้ว และบริษัทราชาเกษตร จำกัด ยังเป็นหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์อีก ตามหนังสือยืนยันยอดคงเหลือตามเอกสารหมาย ล.2 เห็นว่า โจทก์มีผู้รับมอบอำนาจเบิกความประกอบใบรับขนส่งสินค้าและใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.12 ใบลดหนี้เอกสารหมาย จ.13 และเช็คเอกสารหมาย จ.14 ยืนยันว่าจำเลยซื้อสินค้าและโจทก์จัดส่งสินค้าให้แก่จำเลยและใบรับขนส่งสินค้าก็ระบุชื่อสวนราชพฤกษ์เป็นผู้รับ จำเลยยังค้างชำระค่าสินค้าดังกล่าวแก่โจทก์ ตามหนังสือทวงถามและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 ส่วนจำเลยซึ่งให้การต่อสู้ว่าเอกสารการส่งสินค้าเป็นเอกสารปลอม แต่มิได้นำสืบให้ได้ความตามข้อต่อสู้แต่อย่างใด เพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ ว่าไม่ได้ซื้อและมิได้รับสินค้าดังกล่าวจากโจทก์ ส่วนเช็คเอกสารหมาย จ.14 ก็สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ของบริษัทราชาเกษตร จำกัด ไม่เกี่ยวกับหนี้รายนี้แต่กลับได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่าหลังจากหักกลบลบหนี้ของบริษัทราชาเกษตร จำกัด กับโจทก์แล้ว ได้มีการชำระหนี้ส่วนที่เหลือครบถ้วนแล้วด้วยตั๋วแลกเงินของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ตามสำเนาตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย ล.1บริษัทราชาเกษตร จำกัด สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์อีกและยังคงค้างชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ตามหนังสือยืนยันยอดคงเหลือเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีใบสั่งซื้อหรือหลักฐานการรับสินค้าแต่อย่างใด ทั้งไม่อาจรับฟังได้ว่าเช็คเอกสารหมาย จ.14 สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ตามเอกสารหมาย ล.2 เพราะเช็คดังกล่าวสั่งจ่ายเงิน 511,620 บาท สูงกว่าจำนวนหนี้ตามเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งมีเพียง 256,880 บาท ข้ออ้างของจำเลยจึงขัดต่อเหตุผลและไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ประกอบกับโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าสินค้าที่ค้างแก่โจทก์ถึง 2 ฉบับ โดยมีพนักงานบัญชีของจำเลยเป็นผู้รับไว้แทนตามเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 ซึ่งจำเลยก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านแต่เพียงว่าจำเลยเคยโทรศัพท์แจ้งไปยังทนายโจทก์แล้วว่ามีการชำระหนี้เรียบร้อยแล้วจึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยปฏิเสธหนี้จำนวนดังกล่าว ฉะนั้นแม้โจทก์จะไม่มีเอกสารที่แสดงว่าจำเลยได้รับสินค้าตามฟ้องจากโจทก์ แต่เมื่อรับฟังใบรับขนส่งสินค้าประกอบเอกสารอื่น ๆ ที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์และยังค้างชำระค่าสินค้าตามฟ้องแก่โจทก์

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1)เพราะยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้น 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ส่งสินค้าครั้งสุดท้าย ซึ่งจะต้องยื่นฟ้องในวันที่ 10 มกราคม 2540 นั้น เห็นว่า โจทก์ประกอบการค้าด้วยการผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร จำเลยประกอบพาณิชยกิจโดยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์นำไปจำหน่ายต่อให้ลูกค้าอีกต่อหนึ่งการซื้อขายมีลักษณะเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 193/34(1) ตอนท้าย จึงมีอายุความ5 ปีตามมาตรา 193/33(5) โจทก์ยื่นฟ้องคดีในวันที่ 11 ธันวาคม 2540 เมื่อนับถึงวันที่ครบกำหนดชำระค่าสินค้าในวันที่ 10 มกราคม 2538 เป็นเวลาเพียง 2 ปีเศษคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ส่วนนี้ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกาในผล

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแก่โจทก์ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายและเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า ความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 กำหนดให้ตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี แต่บทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวก็ให้อำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมก็ได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง ฉะนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้โจทก์แพ้คดีเป็นให้โจทก์ชนะคดีในชั้นศาลอุทธรณ์ มีผลเท่ากับโจทก์ชนะคดีทั้งสองศาล ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงมีอำนาจกำหนดให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ได้ด้วย ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและไม่เป็นการเกินคำขอ เพราะโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์อยู่แล้ว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share