คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2493/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยเนื่องจากจำเลยเลิกจ้างด้วยเหตุเกษียณอายุคดีถึงที่สุดแล้ว การเลิกจ้างโดยเหตุที่จำเลยเกษียณอายุนอกจากจะเป็นมูลฐานก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าชดเชยแล้วยังก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกเงินบำเหน็จตามระเบียบของจำเลยด้วยดังนั้น การฟ้องเรียกเงินบำเหน็จจากจำเลยตามระเบียบดังกล่าวโจทก์อาจฟ้องเรียกร้องรวมไปในคดีก่อนได้อยู่แล้วการที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เรียกเงินบำเหน็จอีกประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีทั้งสองเนื่องมาจากมูลฐานเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างประจำเพราะเหตุเกษียณอายุโดยไม่จ่ายเงินบำเหน็จซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับของจำเลย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินบำเหน็จพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยเรียกค่าชดเชยเพราะเหตุเกษียณอายุและศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์แล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยมูลกรณีเดียวกับคดีก่อนจึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าคดีก่อนโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยในการที่จำเลยเลิกจ้างด้วยเหตุเกษียณอายุ คดีถึงที่สุดโดยศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 26,700 บาท การเลิกจ้างโดยเหตุที่โจทก์เกษียณอายุคือ มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ นอกจากจะเป็นมูลฐานก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องเรียกค่าชดเชยแล้ว ยังก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกเงินบำเหน็จตามระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. 2502 ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 4 ว่า “ลูกจ้างประจำผู้ใดทำงานมาเป็นเวลาต่อเนื่องกันจะได้รับบำเหน็จตามระเบียบนี้ ถ้าต้องออกจากงานเพราะ (1) มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ (2)” ดังนั้น การฟ้องเรียกเงินบำเหน็จจากจำเลยตามระเบียบดังกล่าวโจทก์อาจฟ้องเรียกร้องรวมไปในคดีก่อนได้อยู่แล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เรียกเงินบำเหน็จอีกประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีทั้งสองเนื่องมาจากมูลฐานเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share