แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ระเบียบข้อบังคับและสภาพการจ้างว่าด้วยวันลาและหลักเกณฑ์การลาได้กำหนดไว้ว่าการลาหยุดงานทุกครั้งต้องยื่นใบลาและแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาและได้รับอนุมัติเสียก่อนเว้นแต่กรณีป่วยกะทันหันหรือมีเหตุฉุกเฉิน การลากิจโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาถือว่าขาดงาน เมื่อไม่ปรากฏว่าการที่ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานไปร่วมประชุมจัดงานวันแรงงานแห่งชาตินั้นเป็นกรณีมีความจำเป็นโดยฉุกเฉินหรือเร่งด่วนแต่อย่างใดทั้งลูกจ้างทราบล่วงหน้ามาก่อนแล้วย่อมมีโอกาสที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ และระเบียบของนายจ้างได้การที่ลูกจ้างขาดงานไป 4 วัน โดยมิได้ยื่นใบลาตามระเบียบและไม่แจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วัน ทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ ๑๑ จำเลยที่ ๑๑ จ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ขอให้มีคำสั่งจำเลยที่ ๑๑ รับโจทก์กลับเข้าทำงาน จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๐ ซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งที่ ๘๖/๒๕๒๔ ว่าการเลิกจ้างมิใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ จึงขอให้ยกเลิกคำสั่งที่ ๘๖/๒๕๒๔ ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๐ ให้จำเลยที่ ๑๑ รับโจทก์กลับเข้าทำงานและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๐ ให้การว่า คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ถูกต้องแล้ว เพราะโจทก์ขาดงาน ๔ วันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานคำสั่งที่ ๘๖/๒๕๒๔ ให้จำเลยที่ ๑๑ รับโจทก์กลับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างและตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าเดิม หากไม่ปฏิบัติตามให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสิบเอ็ดคนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลแรงงานรับฟังว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑๑ และเป็นกรรมการสหภาพแรงงานได้มีมติจากคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในฐานะผู้แทนสหภาพแรงงานให้ไปประชุมเพื่อวางแผนและจัดเตรียมงานวันแรงงานแห่งชาติกรมแรงงานได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ ๑๑ ขอความร่วมมือให้พิจารณาอนุมัติให้โจทก์ลาหยุดงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติได้มอบหมายโจทก์ได้ฝากหนังสือของกรมแรงงานดังกล่าวไปกับเพื่อนร่วมงานเพื่อมอบให้แก่จำเลยที่ ๑๑ ในวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๒๔ แล้วแต่ไม่ได้ไปทำงานตั้งแต่วันที่ ๒๗ ถึง ๓๐ เมษายน ๒๕๒๔ โดยไม่ยื่นใบลาและไม่แจ้งให้จำเลยที่ ๑๑ ทราบล่วงหน้า จำเลยที่ ๑๑ จึงเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ ปัญหาว่าการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า ตามระเบียบข้อบังคับและสภาพการจ้างของจำเลยที่ ๑๑ ว่าด้วยวันลาและหลักเกณฑ์การลาได้กำหนดไว้ว่า การลาหยุดงานไม่ว่ากรณีใด ๆ ของพนักงานจะต้องกรอกข้อความในใบลาตามที่บริษัทกำหนดไว้และนำเสนอขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชา การลาหยุดงานทุกครั้งจะต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบล่วงหน้าและได้รับอนุมัติก่อน เว้นแต่กรณีป่วยกะทันหันหรือเหตุฉุกเฉิน การลากิจโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับหรือว่าขาดงาน และมาตรา ๑๐๒ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯบัญญัติว่า ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาเพื่อไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้ทั้งนี้ให้ลูกจ้างแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาโดยชัดแจ้งพร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ถ้ามี ไม่ปรากฏว่าการที่โจทก์ไปร่วมประชุมจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ กรณีมีความจำเป็นโดยฉุกเฉินหรือเร่งด่วนแต่อย่างใด ทั้งโจทก์ทราบล่วงหน้ามาก่อนย่อมมีโอกาสที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบของจำเลยที่ ๑๑ ว่าด้วยวันลาหยุดงานได้ การที่โจทก์ขาดงานตั้งแต่วันที่ ๒๗ ถึงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๒๔ โดยไม่ยื่นใบลาตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง และไม่แจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุการลาจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา ๑๒๓(๔) ดังนั้นการที่จำเลยที่ ๑๑ เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุเพราะโจทก์ละทิ้งหน้าที่ดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์