คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 356/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตและมิได้เว้นที่ว่างอันปราศจากหลังคาปกคลุมโดยรอบอาคารไม่น้อยกว่า 10 เมตร ทุกด้าน จำเลยต่อสู้ว่าตามวันเวลาที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยต่อเติมอาคารนั้น จำเลยได้ปลูกสร้างอาคารเสร็จแล้ว คำให้การของจำเลยเท่ากับจำเลยยอมรับตามฟ้องว่าได้กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522มาตรา 22 ซึ่งห้ามมิให้ผู้ใดดัดแปลงอาคาร เว้นแต่เจ้าของอาคารจะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น กับยอมรับว่าจำเลยฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2522 ข้อ 80 ซึ่งบัญญัติให้อาคารที่โจทก์ต่อเติมต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า10 เมตรทุกด้าน
เมื่อจำเลยต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยจะต้องรื้อถอน กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยก่อสร้างอาคารยังไม่เสร็จ และจำเลยจะต้องระงับการก่อสร้าง กฎหมายที่นำมาปรับคือมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งการที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะฟ้องคดีต่อศาลให้บังคับให้มีการรื้อถอนอาคารตามความในวรรคสามนั้นต้องผ่านขั้นตอนที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้รื้อถอนอาคารตามในวรรคหนึ่ง แล้วผู้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตาม เมื่อโจทก์ส่งคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ต่อเติมให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และจำเลยได้รับหนังสือแล้วจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธในข้อนี้ เพียงแต่ปฏิเสธว่ามิได้รับคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างซึ่งเป็นคนละกรณี และเมื่ออาคารที่จำเลยต่อเติมไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพ-มหานครดังกล่าวได้ เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ดำเนินการตามขั้นตอนแห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารมาตรา 42 ครบถ้วนแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ต่อเติมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ.๒๕๒๒ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและออกใบอนุญาต สั่งให้รื้อถอนแก้ไขหรือระงับการก่อสร้างอาคาร จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินและอาคารเลขที่ ๔/๑๔๘๗ เมื่อระหว่างวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๒๘ถึงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๘ จำเลยได้ก่อสร้างต่อเติมอาคารโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์และเป็นการก่อสร้างฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ข้อ ๘๐ เจ้าพนักงานของโจทก์ได้ตรวจพบ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๒๘ จึงได้สั่งด้วยวาจาให้จำเลยระงับการก่อสร้างต่อเติมอาคารนั้น ต่อมาผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตรักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขตบางกะปิ ปฏิบัติราชการแทนโจทก์ ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยระงับการก่อสร้างต่อเติมอาคารดังกล่าว จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วแต่ไม่เชื่อฟัง และทำการก่อสร้างต่อเติมอาคารต่อไปจนเสร็จและเปิดประกอบกิจการโรงงานตลอดมา ต่อมาผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตบางกะปิรักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขตบางกะปิ ปฏิบัติราชการแทนโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าวภายใน ๓๐ วัน จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่ง ขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างต่อเติมโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ก่อสร้างต่อเติมอาคารตามฟ้องเสร็จตั้งแต่ปลายปี ๒๕๒๗ มิใช่เพิ่งมาก่อสร้างต่อเติมในช่วงระยะเวลาตามที่โจทก์กล่าวอ้าง และช่วงที่โจทก์มีหนังสือแจ้งให้ระงับการก่อสร้างต่อเติมอาคารนั้น จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่๕๑/๓๘๘ – ๓๘๙ แต่โจทก์ส่งคำสั่งให้จำเลยที่บ้านเลขที่ ๔/๑๔๘๗ อาคารที่เกิดเหตุซึ่งมิใช่ภูมิลำเนาของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างต่อเติมโดยฝ่าฝืนกฎหมายเลขที่ ๔/๑๔๘๗ เฉพาะส่วนที่ก่อสร้างต่อเติมโดยมิได้รับอนุญาต หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์ทำการรื้อถอนได้เองโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความตามฟ้องว่าจำเลยต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจำเลยก็ยอมรับในข้อนี้เพียงแต่ต่อสู้ว่าตามวันเวลาที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยต่อเติมอาคารนั้นจำเลยได้ปลูกสร้างอาคารเสร็จแล้ว คำให้การของจำเลยจึงมีผลเท่ากับจำเลยยอมรับตามฟ้องว่าได้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒มาตรา ๒๒ ซึ่งห้ามมิให้ผู้ใดดัดแปลงอาคาร เว้นแต่เจ้าของอาคารจะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และในขณะเดียวกันจำเลยก็มิได้ให้การปฏิเสธ ฟ้องโจทก์ในเรื่องจำเลยปลูกสร้างอาคารโดยมิได้เว้นที่ว่างอันปราศจากหลังคาปกคลุมโดยรอบอาคารไม่น้อยกว่า๑๐ เมตร ทุกด้าน เท่ากับจำเลยยอมรับว่าจำเลยได้ดัดแปลงอาคารเป็นการฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ ข้อ ๘๐ และที่จำเลยต่อสู้ว่ามีการแจ้งคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการแจ้งคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้าง ดัดแปลงมิได้แจ้งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยนั้น เห็นว่าสำหรับกรณีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งจำเลยจะต้องรื้อถอน มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยก่อสร้างอาคารยังไม่เสร็จ และจำเลยจะต้องระงับการก่อสร้าง ดังนั้นกฎหมายที่จะปรับแก่กรณีคือ มาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งการที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะฟ้องคดีต่อศาลให้บังคับให้มีการรื้อถอนอาคารตามความในวรรคสามนั้นต้องผ่านขั้นตอนที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้รื้อถอนอาคารตามในวรรคหนึ่ง แล้วผู้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตาม สำหรับกรณีนี้โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องข้อ ๕ ว่า โจทก์ได้ส่งคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ต่อเติมให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน และจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธในข้อนี้ เพียงแต่ปฏิเสธว่ามิได้รับคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างซึ่งเป็นคนละกรณีกันดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้แล้ว ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าจำเลยได้รับคำสั่งให้รื้อถอนโดยชอบแล้วและปรากฏว่าอาคารที่จำเลยต่อเติมนั้นเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กมีขนาดกว้าง ๙.๕๐ เมตรยาว ๑๖ เมตร ติดกับอาคารหลังเดิมใช้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ทำเครื่องปั้นดินเผาซึ่งมีเตาไฟและเครื่องจักรโดยมิได้เว้นที่ว่างอันปราศจากหลังคาหรือสิ่งใดปกคลุมโดยรอบอาคารนั้นไม่น้อยกว่า ๑๐ เมตรทุกด้าน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวได้ เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ดำเนินการตามขั้นตอนแห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร มาตรา๔๒ ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ต่อเติมได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share