คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 804/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์ที่บรรยายว่า จำเลยร้องเรียนแจ้งความเท็จจริงต่อเจ้าพนักงาน ถ้าโจทก์มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่า ข้อความที่จำเลยร้องเรียนและแจ้งแก่เจ้าพนักงานนั้น เท็จอย่างใด และความจริงเป็นฉันใด อันพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี แม้ข้อความในตอนท้ายจะมีกล่าวว่า โดยจำเลยรู้อยู่ก่อนแล้วว่า เป็นข้อความเท็จหรือมิได้มีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น ก็เป็นข้อความที่กล่าวอย่างเคลือบคลุม ไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้ว่าเป็นข้อเท็จในข้อใด คำว่า “หรือมิได้มีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น” ก็เป็นคำกล่าวอย่างกว้าง ๆ ไม่แน่ชัดว่าเหตุที่ไม่มีการกระทำผิดเกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะไม่มีการกระทำหรือว่าเป็นเพราะการกระทำนั้นไม่เป็นผิดอาญา ทั้งมีคำว่า “หรือ” ประกอบอยู่ในฟ้อง ซึ่งเป็นถ้อยคำที่แสดงถึงการไม่ยืนยันให้แน่ชัด ฟ้องโจทก์เช่นนี้ย่อมไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยไปแจ้งความเท็จหาว่าโจทก์ลักทรัพย์เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานจับโจทก์ไปควบคุมไว้ ขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำให้เสื่อมเสียอิสระภาพนั้น การที่โจทก์ถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวดังที่กล่าวในฟ้อง ย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานซึ่งจะเห็นสมควรปฏิบัติต่อโจทก์อย่างใด ตามควรแก่กรณี เพียงแต่พิจารณาฟ้อง ก็ยกฟ้องได้แล้ว เพราะตามที่บรรยายในฟ้องจำเลยยังไม่มีความผิดฐานนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานแจ้งความเท็จ ร้องเรียนเท็จ ทำให้เสื่อมเสียอิสระภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๑๓๗, ๑๗๒, ๑๗๓, ๑๗๔, ๑๗๙, ๓๐๙, ๓๑๑
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลที่สองว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องตามกฎหมายและฐานกระทำตามฟ้องไม่ผิด ให้ยกฟ้อง
ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกามีว่า ฟ้องโจทก์ที่บรรยายว่า จำเลยร้องเรียนและแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานนั้น โจทก์มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่า ข้อความที่จำเลยร้องเรียนและแจ้งแก่เจ้าพนักงานนั้นเท็จอย่างใด และความจริงเป็นฉันใด อันพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี แม้ข้อความในตอนท้ายจะมีกล่าวว่า โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่ก่อนแล้วว่าเป็นข้อความเท็จ หรือมิได้มีการกระทำผิดอาญา เกิดขึ้น ก็เป็นข้อความที่กล่าวอย่างเคลือบคลุม ไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้ว่า เป็นเท็จในข้อใด คำว่าหรือมิได้มีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น ก็เป็นคำกล่าวอย่างกว้าง ๆ ไม่แน่ชัดว่า เหตุที่ไม่มีการกระทำหรือการกระทำนั้นไม่เป็นผิดอาญา ทั้งมีคำว่า หรือ ประกอบอยู่ ซึ่งเป็นถ้อยคำที่แสดงถึงการไม่ยืนยันให้แน่ชัด ฟ้องโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๘ (๕) ส่วนฟ้องโจทก์ในความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียอิสระภาพ ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์ถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวดังที่กล่าวฟ้องนั้น ย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ซึ่งจะเห็นสมควรปฏิบัติต่อโจทก์แต่อย่างใด ตามควรแก่กรณี จำเลยจึงไม่มีความผิดในฐานนี้

Share