คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 756/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโดยอ้างเหตุแต่เพียงว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาส่วนในเรื่องคำขอบังคับไม่ชัดแจ้งเคลือบคลุมนั้น จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ก่อนฟ้องโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทราบว่าจะขอทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาท แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมแบ่งแยก ข้อโต้แย้งเกิดขึ้นแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์กับ ล. มีชื่อในโฉนดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกันต่อมาโจทก์กับ ล. ได้ทำสัญญาแบ่งที่ดินกัน และโจทก์เข้าครอบครองที่ดินตามข้อตกลงในสัญญาเป็นส่วนสัด โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 3274 ตำบลหนองซ้ำซากอำเภอบ้านบึง(เมือง) จังหวัดชลบุรี มีชื่อโจทก์กับนางลั้น เดือนเพ็ญ ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2490โจทก์กับนางลั้นได้ทำสัญญาแบ่งแยกที่ดินกันเป็นส่วนสัด โดยถือหลักไม้แก่นเป็นแนวเขตที่ดินในส่วนที่เลยแนวหลักไม้แก่นไปทางด้านทิศเหนือเป็นของนางลั้นส่วนที่เลยหลักไม้แก่นไปทางด้านทิศใต้เป็นของโจทก์มีเนื้อที่ประมาณ 14 ไร่เศษ หลังจากแบ่งแยกกันแล้วโจทก์ได้ปลูกไม้ยืนต้นเป็นแนวเขตและครอบครองเป็นเจ้าของ ปลูกบ้านอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในที่ดิน ในส่วนที่ของโจทก์ตลอดมาเป็นเวลา30 ปีเศษแล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งสิทธิวันที่ 9 ธันวาคม 2502นางไน่กิม เดือนเพ็ญ (ที่ถูกเป็นนายไน่กิม เดือนเพ็ญ) ได้รับมรดกที่ดินในส่วนของนางลั้น และต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2525จำเลยได้รับมรดกที่ดินส่วนดังกล่าวจากนางไน่กิม โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยไปทำการรังวัดเพื่อแบ่งแยกให้แก่โจทก์ตามเนื้อที่ที่โจทก์ครอบครองมา จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยไปยื่นคำขอรังวัดต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี เพื่อแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3274ตำบลหนองซ้ำซาก อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ให้แก่โจทก์หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยจำเลยให้การว่า โจทก์กับจำเลยมิได้แบ่งแยกกันครอบครองเป็นส่วนสัดสัญญาแบ่งแยกที่ดินที่โจทก์อ้างมาเป็นเอกสารปลอม ที่โจทก์กล่าวอ้างและขอแบ่งแยกที่ดินมีเนื้อที่ 14 ไร่เศษ เป็นเนื้อที่มากเกินส่วนที่โจทก์ควรได้ ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยไปรังวัดแบ่งแยก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปทำการรังวัดเพื่อแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ตามแนวแผนที่สังเขปท้ายฟ้องหมายเลข 3 ถ้าไม่ไปถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายแดงและนางหรุ่น นายแดงและนางหรุ่นได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่นางเชื้อและนางลั้นนางเชื้อถึงแก่กรรมที่ดินส่วนของนางเชื้อเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์นางลั้นถึงแก่กรรมที่ดินส่วนของนางลั้นเป็นมรดกตกทอดแก่นายไน่กิม นายไน่กิมถึงแก่กรรมที่ดินส่วนของนายไน่กิมเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลย โจทก์และจำเลยเป็นญาติกันโฉนดที่ดินพิพาทมีชื่อโจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของ
ประเด็นแรกจำเลยฎีกาว่า คำขอบังคับท้ายฟ้องเคลือบคลุมคำขอบังคับเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่อคำฟ้องเคลือบคลุมจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา172 วรรคสองนั้น เห็นว่า จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโดยอ้างเหตุแต่เพียงว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา ส่วนในเรื่องคำขอบังคับไม่ชัดแจ้งเคลือบคลุมนั้นจำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
ประเด็นต่อไปจำเลยฎีกาว่า ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยทราบว่า จะขอทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาท ข้อโต้แย้งยังไม่เกิดขึ้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าโจทก์นำสืบว่าโจทก์ได้ติดต่อขอให้จำเลยแบ่งแยกโฉนดที่ดินพิพาท แต่จำเลยเพิกเฉยส่วนจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งในข้อนี้แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ก่อนฟ้องโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทราบว่าจะขอทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทแต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมแบ่งแยก ข้อโต้แย้งเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ประเด็นสุดท้ายจำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดนั้น เห็นว่า โจทก์นำสืบนอกจากมีเอกสารหมาย จ.2 และจ.4 มาแสดงแล้ว โจทก์ยังมีพยานบุคคลคือตัวโจทก์ นายอนิวัฒน์กำนันตำบลหนองซ้ำซากและนางทองเติมผู้เขียนเอกสารหมาย จ.4มาเบิกความประกอบเอกสารดังกล่าวว่า เมื่อปี 2489 โจทก์กับนางลั้นได้ไปยื่นคำขอต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี ขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทด้านทิศใต้เป็นของโจทก์ ส่วนแปลงคงเหลือเป็นของนางลั้นตามเอกสารหมาย จ.2 แต่ไม่สามารถแบ่งแยกได้เพราะเจ้าของที่ดินข้างเคียงคัดค้านว่าโจทก์และนางลั้นนำรังวัดรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของผู้คัดค้านดังกล่าว ต่อมาในปี 2490 โจทก์กับนางลั้นจึงได้ไปทำสัญญาแบ่งที่ดินพิพาทต่อกำนันตำบลหนองซ้ำซากโดยมีข้อตกลงว่าโจทก์ได้ที่ดินพิพาทด้านทิศใต้ ส่วนนางลั้นได้ที่ดินพิพาททิศเหนือตามเอกสารหมาย จ.4 พยานหลักฐานของโจทก์เชื่อมโยงสอดคล้องกันจึงน่าเชื่อ ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่าเอกสารหมาย จ.4 เป็นเอกสารปลอมนั้น จำเลยก็นำสืบลอย ๆ ประกอบกับไม่ปรากฏว่ากำนันตำบลหนองซ้ำซากและนางทองเติมเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับนางลั้นหรือนายไน่กิมหรือจำเลย และบุคคลทั้งสองดังกล่าวก็ไม่มีผลประโยชน์ส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทด้วย จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าบุคคลทั้งสองจะแกล้งทำเอกสารหมาย จ.4 ปลอมขึ้นมา นอกจากนี้แม้จะปรากฏตามใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่เอกสารหมาย จ.21 ถึง จ.23 ว่าบางปีนายไน่กิมเป็นผู้เสียภาษีที่ดินพิพาทดังจำเลยฎีกาก็ตามแต่เอกสารหมาย จ.21 ถึง จ.23 ก็ไม่มีข้อความแสดงว่าโจทก์กับนายไน่กิมครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันซึ่งไม่เหมือนกับเอกสารหมาย จ.2 และ จ.4 ซึ่งมีข้อความแสดงไว้ชัดแจ้งว่า โจทก์และนางลั้นได้แบ่งกันครอบครองที่ดินพิพาทโดยตกลงกันให้โจทก์ได้ที่ดินพิพาทด้านทิศใต้ ส่วนนางลั้นได้ที่ดินพิพาทด้านทิศเหนือ ดังนี้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่า ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเมื่อปี 2489 และปี 2490 โจทก์และนางลั้นได้ตกลงแบ่งที่ดินพิพาทกันตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.4 และโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทด้านทิศใต้เป็นส่วนสัดตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องหมายเลข 3 โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเป็นเวลา 10 ปีแล้วโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382”
พิพากษายืน

Share