แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ไม่ได้บังคับให้ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายก่อนดำเนินการพิจารณา (ตามที่คู่ความขอ) ทุกเรื่อง ถ้าศาลเห็นว่า การวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่ผู้อ้างเลย คือจำเป็นจะต้องดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป แล้ว จะสั่งให้รอไว้วินิจฉัยในคำพิพากษาก็ได้
เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ ต้องประกอบด้วยเหตุใน พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 ส่วนมาตรา 8 เป็นเพียงข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้มพ้นตัว เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ที่ไม่สามารถนำสืบให้ศาลเห็นได้ว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว โจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในฟ้องว่าจำเลยได้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา 8
เมื่อบรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์แล้วไม่ชำระ และจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้มพ้นตัว ไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว โจทก์นำสืบว่าจำเลยเป็นหนี้คนอื่นอยู่อีก และยังไม่ชำระหนี้ ดังนี้ เป็นการสืบในประเด็นว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่ใช่สืบนอกประเด็น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ กู้เงินโจทก์ไป ๑๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาโจทก์ฟ้องและศาลได้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินต้นนั้นกับดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม จำเลยทราบคำพิพากษาแล้วก็ไม่ชำระ โจทก์ได้ทวงถามหลายครั้ง จำเลยก็ไม่ชำระ ทั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งแสดงว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้พิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย และตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
จำเลยทั้งสองให้การว่าจำเลยเป็นหนี้ ตามคำพิพากษาจริง แต่ได้ชำระแล้ว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และไม่สมบูรณ์ และจำเลยที่ ๒ ยังให้การตัดฟ้องในข้ออื่นอีก
เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชี้ขาดในข้อกฎหมายเบื้องต้น ตามที่จำเลยให้การตัดฟ้องไว้ ศาลสั่งให้รอวินิจฉัยในคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยโดยเด็ดขาด
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ในระหว่างอุทธรณ์ โจทก์ถอนฟ้อง เฉพาะจำเลยที่ ๒
ศาลอุทธรณ์ให้จำหน่าย อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ เสีย คงพิจารณาคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ ๑ แล้วพิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวิยนิจฉัยว่า
๑. จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้รอการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายไว้วินิจฉัยในคำพิพากษาเท่ากับศาลไม่สั่งตามคำร้องของจำเลย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลควรจะสั่งคำร้องจำเลยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔ นั้น เห็นว่า ตามมาตรา ๒๔ มีความหมายเพียงว่า ถ้าศาลเห็นว่า การวินิจฉัยเบื้องต้นจะเป็นคุณแก่ผู้อ้าง คือไม่ต้องดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปทั้งเรื่อง หรือไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีบางข้อแล้ว ศาลก็มีอำนาจมีคำสั่งชี้ขาดเบื้องต้น ๆ เสียก่อนดำเนินการพิจารณาต่อไป แต่ถ้าเห็นว่า การวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น ฯ ไม่เป็นคุณแก่ผู้อ้างเลย คือ จำเป็นจะต้องดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป แล้ว ศาลจะสั่งให้รอไว้วินิจฉัยในคำพิพากษาก็ได้ เป็นเรื่องอยู่ในดุลยพินิจของศาล
๒. จำเลยฎีกาว่า โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏเหตุตามมาตรา ๘ แห่ง พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ จึงจะฟ้องล้มละลายได้นั้น เห็นว่าเจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ต้องประกอบด้วยเหตุตามมาตรา ๙ ส่วนมาตรา ๘ เป็นเพียงข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้มพ้นตัว เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ที่ไม่สามารถนำสืบให้ศาลเห็นได้ว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว โจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในฟ้องว่าจำเลยได้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา ๘
๓. จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลยอมให้โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ ๑ ยังเป็นหนี้คนอื่นอีก เป็นการสืบนอกประเด็นนั้น เห็นว่าโจทก์ได้บรรยายมาในฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ มีหนี้สินล้นพ้นตัว ฉะนั้น ที่สืบว่าจำเลยเป็นหนี้คนอื่นอยู่อีกและยังไม่ได้ชำระหนี้จึงเป็นการสืบในประเด็นว่าจำเลยที่ ๑ มีหนี้สินล้นพ้นตัว
เมื่อวินิจฉัยข้อเท็จจริงด้วยแล้ว ศาลพิพากษาแก้ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ เด็ดขาแต่ผู้เดียว (เพราะโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ แล้ว)