คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7047/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสมคบกับเจ้าพนักงานที่ดินกระทำการโดยทุจริต ใช้วิธีการให้จำเลยยื่นคำร้องขอรังวัดตรวจสอบเนื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลย และรังวัดรวมเอาที่ดินนอกเขตหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่จำเลยไม่มีสิทธิครอบครอง มารวมกับที่ดินเดิมแล้วแก้ไขเพิ่มจำนวนเนื้อที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้มากขึ้นโดยไม่ชอบ จากนั้นจำเลยนำที่ดินมาขายให้แก่โจทก์โดยหลอกลวงว่าเป็นที่ดินที่จำเลยเป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์หลงเชื่อจึงรับซื้อไว้และจ่ายเงินค่าที่ดินให้จำเลยไปแล้วเป็นการฉ้อโกงโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินแก่โจทก์ ดังนี้เป็นการฟ้องว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์และเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิด มิใช่การฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาซื้อขายที่ดิน จึงไม่มีข้อต้องพิจารณาว่าโจทก์มีส่วนผิดในการทำสัญญาหรือเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินจากจำเลยโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ เมื่อการทำละเมิดเกิดจากการทุจริตฉ้อโกงของจำเลยฝ่ายเดียวโดยโจทก์มิได้มีส่วนสมรู้หรือยินยอมให้จำเลยกระทำการทุจริตดังกล่าว จึงไม่อาจถือว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต ทั้งจำเลยไม่อาจอ้างเหตุผลใดที่จะไม่ต้องคืนทรัพย์สินที่หลอกลวงไปคืนแก่โจทก์เพราะบุคคลผู้ทุจริตหามีสิทธิที่จะได้ประโยชน์จากการทุจริตหรือการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของตนไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยมีเนื้อที่จริงเพียง 22 ไร่ 1 งาน จำเลยสมคบกับเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดตรวจสอบเนื้อที่ดินของจำเลยโดยรังวัดรวมเอาที่ป่าที่จำเลยไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์เนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา รวมเข้าเป็นเนื้อที่ดินที่รังวัดได้ใหม่แล้วแก้ไขรูปแผนที่และจำนวนเนื้อที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็น 55 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา การรังวัดและแก้ไขเนื้อที่ดินดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะที่ดินส่วนที่รังวัดเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นที่ป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) เนื่องจากเป็นที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดินหรือยังไม่มีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่บุคคลใด และเป็นที่ดินที่จำเลยไม่มีสิทธิครอบครองอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งไม่ได้เข้าทำประโยชน์อยู่จริง จึงไม่มีสิทธิที่จะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินส่วนนี้ได้ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคสอง การรังวัดและแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ไม่ชอบดังกล่าวย่อมไม่ทำให้จำเลยได้สิทธิครอบครองหรือก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ที่ดินส่วนดังกล่าวยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่เช่นเดิม การที่จำเลยอ้างต่อโจทก์ว่าจำเลยเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินส่วนนี้ด้วยทั้งที่รู้อยู่ว่าไม่เป็นความจริงและนำมาหลอกขายให้โจทก์ จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยคืนเงินค่าที่ดินเฉพาะส่วนที่รังวัดเพิ่มขึ้นโดยไม่ชอบนั้นแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,443,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 825,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความฟังเป็นยุติ ในปี 2536 รัฐบาลมีโครงการกองทุนที่ดินเพื่อจัดหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองโดยมอบหมายให้โจทก์มีหน้าที่ในการจัดซื้อที่ดินจากประชาชนและนำไปจัดสรรแก่เกษตรกร โจทก์ทำสัญญาซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2239 ตำบลสุมเส้า อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ 55 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา จากจำเลยในราคา 825,000 บาท ซึ่งเป็นการจัดซื้อในโครงการกองทุนที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุดรธานี ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์และสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน โจทก์รับมอบที่ดินจากจำเลยและจำเลยได้รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว ต่อมาโจทก์ได้รับหนังสือร้องเรียนจากเกษตรกรว่าที่ดินที่ได้รับจัดสรรมีสภาพไม่เหมาะสมแก่การเกษตรกรรมและเนื้อที่น้อยเกินไป มีเหตุสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ของโจทก์ผู้มีหน้าที่จัดซื้อที่ดินตามโครงการกองทุนที่ดินในเขตอำเภอสร้างคอมและอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ทุจริตในการจัดซื้อที่ดิน จึงขอให้กรมที่ดินช่วยตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารสิทธิสำหรับที่ดินที่โจทก์จัดซื้อมาแล้วทั้งหมดรวม 216 แปลง ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบที่กรมที่ดินแต่งตั้งขึ้นพบว่า เอกสารสิทธิของที่ดินที่โจทก์ซื้อมีเพียง 63 แปลงเท่านั้นที่ออกเอกสารสิทธิหรือแบ่งแยกเอกสารสิทธิโดยถูกต้อง นอกนั้นมีการออกเอกสารสิทธิหรือรังวัดเพิ่มเนื้อที่ดินในเอกสิทธิเดิมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามรายงานผลการตรวจสอบ สำหรับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2239 ของจำเลยที่ขายให้โจทก์ผลการตรวจสอบได้ความว่า เดิมเจ้าพนักงานที่ดินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้จำเลยเมื่อปี 2520 ด้วยวิธีเดินสำรวจโดยใช้รูปถ่ายทางอากาศ มีเนื้อที่จริงเพียง 22 ไร่ 1 งาน ต่อมาจำเลยยื่นคำขอรังวัดตรวจสอบเนื้อที่ดินและมีการรังวัดโดยนำเอาที่ดินทางด้านทิศใต้ที่อยู่นอกเขตหนังสือรับรองการทำประโยชน์เดิมซึ่งมีสภาพเป็นป่าและยังไม่มีการทำประโยชน์ เนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา มารวมเป็นเนื้อที่ดินที่รังวัดตรวจสอบได้แล้วแก้รูปที่ดินและเนื้อที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เสียใหม่ ทำให้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นเป็น 55 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา อันเป็นการรังวัดแก้ไขเนื้อที่ดินโดยมิชอบและต้องดำเนินการเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตามหนังสือรายงานผลการตรวจสอบ โจทก์จึงร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหาฉ้อโกงและมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นคดีนี้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าโจทก์มิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการจัดซื้อที่ดินจากจำเลย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ขอให้พิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้อง เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสมคบกับเจ้าพนักงานที่ดินกระทำการโดยทุจริต ใช้วิธีให้จำเลยยื่นคำร้องขอรังวัดตรวจสอบเนื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ดังกล่าวของจำเลยแล้วรังวัดรวมเอาที่ดินนอกเขตหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่จำเลยไม่มีสิทธิครอบครองเนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา มารวมกับเนื้อที่ดินเดิม และแก้ไขเนื้อที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็น 55 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา เป็นการไม่ชอบ จากนั้นจำเลยนำที่ดินมาขายให้โจทก์โดยหลอกลวงว่าเป็นที่ดินที่จำเลยเป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์หลงเชื่อจึงรับซื้อไว้อันเป็นการฉ้อโกงโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องจ่ายเงินให้จำเลยไปเป็นเงิน 825,000 บาท เป็นการฟ้องว่าจำเลยจงใจทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายหรือทำละเมิดต่อโจทก์และเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420, 438 มิใช่ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาซื้อขายที่ดิน จึงไม่มีข้อต้องพิจารณาว่าโจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินจากจำเลยโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ และมิใช่การฟ้องคดีเพื่อติดตามเอาทรัพย์คืนจากบุคคลภายนอก จึงไม่มีประเด็นต้องพิจารณาว่าผู้ฟ้องมีส่วนผิดหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการทำนิติกรรมหรือไม่ เพราะไม่มีเหตุที่จะต้องคุ้มครองสิทธิของบุคคลภายนอกผู้สุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่ให้ต้องเสียหาย สำหรับคดีนี้เมื่อการทำละเมิดเกิดจากทุจริตฉ้อโกงของจำเลยฝ่ายเดียวโดยโจทก์มิได้มีส่วนสมรู้หรือยินยอมให้จำเลยกระทำการทุจริตดังกล่าวด้วย ย่อมไม่อาจถือว่าโจทก์มีส่วนผิดหรือใช้สิทธิฟ้องคดีละเมิดโดยไม่สุจริต ทั้งจำเลยไม่อาจอ้างเหตุผลใดที่จะไม่ต้องคืนทรัพย์สินที่หลอกลวงไปคืนแก่โจทก์ เพราะบุคคลผู้ทุจริตหามีสิทธิจะได้ประโยชน์จากการทุจริตหรือการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของตนได้ไม่ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินจากจำเลยโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่า โจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลย ถือว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินกระทำการโดยทุจริตโดยรังวัดตรวจสอบเนื้อที่ดินและแก้ไขเพิ่มเนื้อที่ดินจากเดิมโดยไม่ชอบแล้วนำมาหลอกลวงขายโจทก์ เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใดนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังมิได้มีคำวินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยอีก เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยสำหรับที่ดินส่วนที่เกิน 22 ไร่ 1 งาน ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าที่ดินนอกนั้นจำเลยไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ เพราะหากจำเลยครอบครองทำประโยชน์จริง ก็ไม่มีเหตุที่เจ้าพนักงานที่ดินจะไม่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยในปี 2520 นอกจากนี้ในรูปแผนที่และเขตติดต่อของที่ดินที่แสดงไว้ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เดิม แบบบันทึกการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศก็ระบุตรงกันว่าที่ดินส่วนที่อยู่ด้านทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของที่ดินจำเลยเป็นที่ว่าง มิใช่ที่ดินที่มีผู้ครอบครองทำประโยชน์อยู่แต่อย่างใด ยิ่งเชื่อได้ว่าที่ดินส่วนดังกล่าวเป็นป่าและยังไม่ได้มีการเข้าครอบครองทำประโยชน์รับกับข้อเท็จจริงที่จำเลยและนางคูณให้ถ้อยคำต่อนายอุทัยพยานโจทก์และคณะตรวจสอบของกรมที่ดิน หลังจากปี 2520 จำเลยก็ไม่ได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือนี้อีกเลย แสดงว่าหลังจากนั้น จำเลยไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินส่วนนี้ต่อมาภายหลังอีกดังที่นำสืบ จำเลยจึงมิใช่บุคคลผู้มีสิทธิได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ในที่ดินส่วนนี้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคสอง เพราะมิใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินโดยชอบ เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจออกเอกสารสิทธิในที่ดินนี้ให้แก่จำเลยได้และถือว่าที่ดินส่วนนี้เป็นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) เพราะเป็นที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน จำเลยและเจ้าพนักงานที่ดินจึงต้องใช้วิธีขอรังวัดตรวจสอบเนื้อที่ดินแล้วแก้ไขรูปที่ดินและเนื้อที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เดิมแทนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับใหม่เพื่อเลี่ยงข้อห้ามตามกฎหมายดังกล่าว พยานหลักฐานและทางนำสืบของโจทก์สมเหตุผลมีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานและทางนำสืบของจำเลย ฟังได้ว่าที่ดินส่วนที่มีการรังวัดเพิ่มเติมเนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา เป็นที่ดินที่ยังไม่มีการออกโฉนดที่ดินหรือตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลใดจึงเป็นที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 2 และเป็นที่ดินของรัฐซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจออกเอกสารสิทธิให้แก่จำเลยได้ แม้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดโดยนำที่ดินส่วนนี้เพิ่มรวมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เดิมที่ออกแก่จำเลยโดยชอบ ก็เป็นการรังวัดแก้ไขเนื้อที่ดินโดยมิชอบ การแก้ไขนี้ไม่ทำให้จำเลยได้สิทธิครอบครองหรือเกิดสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินเพิ่มขึ้นจากเดิมแต่อย่างใด ที่ดินดังกล่าวยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่เช่นเดิม การที่จำเลยอ้างว่าเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินส่วนนี้ด้วยทั้งที่รู้อยู่ว่าไม่เป็นความจริงและนำที่ดินมาขายให้โจทก์ จึงเป็นการจงใจหลอกลวงโจทก์ทำให้โจทก์หลงเชื่อ จัดซื้อที่ดินของรัฐให้แก่รัฐเองและจ่ายเงินงบประมาณของแผ่นดินเป็นค่าที่ดินแก่จำเลยโดยไม่จำเป็น เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ส่วนที่ดินเนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา ซึ่งรังวัดเพิ่มเติมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เดิมที่ออกแก่จำเลยโดยไม่ชอบซึ่งถือว่ายังเป็นป่าและเป็นที่ดินของรัฐนั้น โจทก์ก็หาได้มีสิทธิครอบครองในที่ดินส่วนนั้นไม่ และเป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายต่อไป
ปัญหาจำเลยต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า ที่ดินที่จำเลยนำมาหลอกขายโจทก์มีเนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา คือส่วนที่รังวัดและแก้ไขเนื้อที่เพิ่มขึ้นภายหลังเท่านั้น แต่ที่ดินตามเนื้อที่ดินเดิมในหนังสือรับรองการทำประโยชน์จำนวน 22 ไร่ 1 งาน เป็นที่ดินที่จำเลยเป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองอยู่จริง การซื้อขายที่ดินส่วนจึงไม่เป็นการหลอกลวงหรือละเมิดทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยมีสิทธิได้รับเงินค่าซื้อที่ดินในส่วนที่จำเลยเป็นเจ้าของหรือมีสิทธิครอบครองจริง ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เฉพาะราคาค่าที่ดินส่วนที่เกินจากที่มีสิทธิได้รับ ซึ่งตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขาย และสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อขายระบุว่า โจทก์และจำเลยตกลงซื้อขายที่ดินกันในราคาไร่ละ 15,000 บาท รวมราคาทั้งแปลงเป็นเงิน 825,000 บาท คิดคำนวณราคาจากเนื้อที่ 22 ไร่ 1 งาน เป็นเงิน 333,750 บาท นำไปหักจากราคาที่ดินทั้งหมดที่จำเลยรับไปจากโจทก์แล้ว คงเป็นค่าที่ดินที่จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์ 491,250 บาท และจำเลยต้องรับผิดดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันทำละเมิดคือวันที่ทำสัญญาขายที่ดินและรับเงินไปจากโจทก์เป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 419,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลในแต่ละชั้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี

Share