คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 585/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจะมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างไว้และจำเลยจะได้มีหนังสือแจ้งแก่โจทก์ว่าไม่ประสงค์จะต่อสัญญาจ้างให้ก่อนวันสิ้นสุดสัญญา อันเป็นผลให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงโดยผลแห่งสัญญาก็ตาม แต่การแสดงเจตนาของจำเลยเช่นว่านี้ก็เป็นผลให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างต้องออกจากงาน จึงต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 46 วรรคสอง เมื่อลักษณะงานที่โจทก์ทำไม่เข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสามจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่มีความผิดโจทก์ทำงานกับจำเลยมาครบ 1 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าชดเชยรวม 99,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยโดยได้ทำสัญญาจ้างมีกำหนดวันสิ้นสุดการจ้าง ก่อนถึงกำหนดวันสิ้นสุดสัญญาจำเลยมีหนังสือบอกกล่าวไม่ประสงค์จะต่อสัญญาจ้างให้โจทก์อีกดังนั้นการเลิกจ้างจำเลยจึงเป็นการเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลย โจทก์ปฏิบัติผิดระเบียบของจำเลยตลอดมา ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยจ้างโจทก์โดยทำสัญญาจ้างไว้เป็นหนังสือซึ่งมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของการจ้างไว้คือวันที่ 31ธันวาคม 2534 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2534 จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าจะไม่ต่อสัญญาให้ เป็นการยืนยันว่าจำเลยไม่จ้างโจทก์อีกจึงเป็นกรณีสัญญาจ้างได้สิ้นสุดลงโดยผลแห่งสัญญา มิใช่การเลิกจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งแก่โจทก์ว่าไม่ประสงค์จะต่อสัญญาจ้างให้ กรณีนี้ แม้สัญญาจ้างจะได้สิ้นสุดลงโดยผลแห่งสัญญาก็ตามหากพิจารณาตามข้อ 46 วรรคสาม แล้วจะเห็นได้ว่า แม้สัญญาจ้างที่มีกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้าง ผลของสัญญาทำให้ลูกจ้างต้องออกจากงานเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลงก็ตาม ก็อยู่ในความหมายของการเลิกจ้างตามนัยข้อ 46วรรคสอง ทั้งนี้โดยที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายพิเศษ มีวัตถุประสงค์ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างเว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่เลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 46 วรรคสาม จึงต้องตีความเพื่อให้เป็นผลใช้บังคับได้ มิฉะนั้นความในข้อ 46 วรรคสาม จะไร้ผลดังนั้นการที่จำเลยแสดงเจตนาต่อโจทก์ว่าไม่ต่อสัญญาจ้างให้อันมีผลทำให้จำเลยต้องออกจากงาน จึงต้องถือว่าเป็นการที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานอันเป็นการเลิกจ้างตามความหมายในข้อ 46 วรรคสองดังกล่าวข้างต้น และไม่ปรากฏว่าลักษณะงานที่โจทก์ทำเข้าข้อยกเว้นตามข้อ 46 วรรคสาม ที่อาจเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยจึงมีปัญหาต่อไปว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นเพราะเหตุที่โจทก์ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยให้การเพียงว่าโจทก์ปฏิบัติผิดระเบียบของจำเลยตลอดมา กล่าวคือ มาปฏิบัติงานไม่ตรงเวลา ละทิ้งหน้าที่โดยไม่บอกกล่าวเป็นเหตุให้การผลิตยาต้องหยุดชะงัก ซึ่งทำให้ได้ปริมาณและคุณภาพด้อยลง จำเลยได้ว่ากล่าวตักเตือนหลายครั้ง แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ปรับปรุงตัว ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โดยจำเลยหาได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ได้กระทำการใดเข้าลักษณะความผิดดังระบุไว้ตามข้อ 47กรณีหนึ่งกรณีใดอันจะเข้าหลักเกณฑ์ในกรณีเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใดไม่ จึงไม่มีประเด็นในคดีที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่ไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 และไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 46 วรรคสาม จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันเป็นเงิน 99,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างเป็นต้นไป ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นข้ออื่นเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน99,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ.

Share