คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 315/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์โดยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์โดยทำสัญญากู้ยืมให้โจทก์ไว้ และมีจำเลยมี 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ทั้งได้มอบเช็คของจำเลยที่ 1 ลงวันล่วงหน้าให้โจทก์ยึดถือไว้ด้วย แต่ในสัญญากู้ยืมมิได้กำหนด เวลาชำระหนี้กันไว้ ดังนี้ เช็คที่จำเลยที่ 1 ออกให้โจทก์ยึดถือไว้นั้น หาได้เป็นการตกลงให้เป็นการกำหนดวันหรือระยะเวลาชำระหนี้ให้เป็นการแน่นอนขึ้นแต่อย่างไรไม่ แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะได้ออกเช็คใหม่ลงวันล่วงหน้าต่อไปอีกให้โจทก์ยึดถือไว้แทนเช็คฉบับเก่า ก็ไม่เป็นการที่เจ้าหน้าที่ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้อันผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระต้นเงิน และดอกเบี้ยตามสัญญา กู้และค้ำประกัน โดยกล่าวว่า จำเลยที่ ๑ กู้เงินโจทก์ไป ๓,๐๐๐ บาท มิได้กำหนดเวลาชำระต้นเงิน จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ ๑ ได้นำเช็คของธนาคาร เกษตร หนึ่งฉบับมาเป็นประกันด้วย เช็คฉบับนี้โจทก์ได้นำไปขึ้นเงิน แต่ธนาคารแจ้งการเงินในบัญชีไม่พอจ่าย โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้หลายครั้ง จำเลยที่ ๑ ผัดเรื่อยมากโจทก์จึงทวงถามให้จำเลยที่ ๒ ชำระหนี้จำเลยที่ ๒ กลับปฏิเสธตามรับผิด
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์ให้จำเลยที่ ๑ เขียนเช็คลงวันที่ล่วงหน้าสั่ง จ่ายเงิน ๓,๐๐๐ บาท ให้โจทก์ไว้ เมื่อครบกำหนด เช็คนั้นขึ้นเงินไม่ได้โจทก์กลับผ่อนเวลาให้จำเลยที่ ๑ โดยคืนเช็คให้จำเลยที่๑ แล้วจำเลยที่ ๑ ออกเช็คล่วงหน้าให้ใหม่ ยึดเวลาต่อไปอีกเป็นการแปลงหนี้ อย่างนี้หลายครั้ง โดยไม่แจ้งให้จำเลยที่ ๒ ทราบ จำเลยที่ ๒ ย่อมหลุดพ้น ไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระต้นเงิน และดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกันไว้เป็นเอกเทศต่างหาก และจำเลยที่ ๒ ได้ตกลงเข้าผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันในการชำระหนี้กู้ยืมนั้น กำหนดเวลาชำระหนี้ เมื่อใดมิได้มีการตกลงกันไว้ในสัญญากู้ยืมนั้นฉะนั้น เจ้าหนี้จะเรียกร้องบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้เมื่อใดก็ได้ การที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกหนี้ได้ออกเช็คลงวันล่วงหน้าให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยึดถือไว้ หาได้เป็นการตกลงให้เป็นการกำหนดวันหรือระยะเวลาการชำระหนี้ให้การแน่นอนขึ้นแต่อย่างไร ไม่ จำเลยที่ผู้เป็นผู้ค้ำประกันก็ยังคงต้องผูกพันที่จะต้องรับผิดเจ้าหน้าที่ ในเมื่อลูกหนี้ไม่กระทำการชำระหนี้อยู่ตลอดไปตามสัญญาค้ำประกันนั้น ฉะนั้น แม้จำเลยที่ ๑ ผู้เป็นลูกหนี้จะได้ออกเช็คใหม่ลงวันล่วงหน้าไปอีกให้เจ้าหน้ายึดถือไว้แทนเช็คใบเก่า จึงไม่เป็นการที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกค้าอันผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐๐ แต่อย่างใด ผู้ค้ำประกันคือจำเลยที่ ๒ ในกรณีนี้หาได้เป็นผู้ค้ำประกันรับประกันการใช้เงินเช็คของจำเลยที่ ๑ นั้นแต่อย่างใดไม่ ทั้งกรณีก็ไม่เป็นการแปลงหนี้เดิมเป็นหนี้ใหม่ แต่อย่างใด เพราะหนี้ที่จำเลยที่ ๑ มีความรับผิดต้องชำระก็คือหนี้เงินกู้ตามหนังสือกู้อยุ่นั่นเอง จำเลยที่ ๒ ไม่มีทางชนะคดีได้ พิพากษายืน

Share