แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ซึ่งศาลลงโทษทั้งจำคุกและปรับแต่จำเลยไม่ชำระค่าปรับเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงยึดที่ดินของจำเลยหรือขายชำระค่าปรับ จำเลย ยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึดที่ดินของจำเลยที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อใช้ค่าปรับ แม้จำเลยอ้างว่าโจทก์ยังบังคับคดีไม่ได้เพราะจำเลยได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ขอให้ศาลไม่บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้ เมื่อจำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม, 66 วรรคสาม จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 5,000,000 บาท เพิ่มโทษปรับกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 7,500,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี และปรับ 3,750,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับได้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบของกลาง ต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 56223, 56227 และ 56229 ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เพื่อบังคับชำระค่าปรับ
จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยจะต้องรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาให้ครบเสียก่อนจึงจะบังคับชำระค่าปรับได้ และตามคำพิพากษามิได้กำหนดไว้ว่าให้ชำระค่าปรับเมื่อใด โจทก์จึงยังบังคับคดีไม่ได้ และจำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 ซึ่งมาตรา 5 (1) ลดโทษให้เฉพาะในส่วนโทษปรับเท่ากับว่าจำเลยไม่มีโทษปรับอีก โจทก์จึงไม่มีอำนาจยึดที่ดินดังกล่าวชำระค่าปรับได้ ขอให้ปล่อยที่ดินที่ยึดทั้งสามแปลงคืนแก่จำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึดทรัพย์ที่ดินของจำเลยที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อใช้ค่าปรับ แม้จำเลยอ้างว่าโจทก์ยังบังคับคดีไม่ได้ และจำเลยได้รับประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ขอให้ศาลไม่บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า “ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด” และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้” ดังนี้ เมื่อจำเลยฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาจำเลย