คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10927/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์เพิ่มเติมจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามา แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาตามทุนทรัพย์ในศาลชั้นต้น จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามทุนทรัพย์ที่โจทก์เสียเกินมา และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลแก่จำเลยทั้งสอง 4,800 บาท เพราะเห็นว่าจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ทำนองว่าค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงินเพียง 240,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นเงินเพียง 360,000 บาท นั้น แม้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีข้อความว่า จำเลยที่ 1 เห็นว่าค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เดือนละ 5,000 บาท สูงเกินส่วน ที่เหมาะสมควรจะเป็นเงินเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 240,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองมีคำขอท้ายอุทธรณ์ว่าขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงมิได้ยอมรับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นเงิน 600,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์จำนวนดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบ นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยที่ 2 ใหม่ก็เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ฟ้องวันที่ 30 สิงหาคม 2554) กับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 4,800 บาท ที่เสียเกินมาแก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังว่า โจทก์เป็นมารดาของนายวินัย จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกหกล้อ หมายเลขทะเบียน 82 – 3903 ชลบุรี ไปตามถนนทางเข้าช่องแสมสารซึ่งแบ่งช่องเดินรถให้รถแล่นสวนทางกัน เมื่อถึงทางแยกเขาหัวแดง จำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยวขวาเข้าทางแยกตัดหน้ารถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับสวนทางมาอย่างกะทันหัน เป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย ทำให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 7087/2554 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและชำระเงิน 100,000 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อบรรเทาความเสียหาย โจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ สำหรับค่าใช้จ่ายในการปลงศพยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เบิกความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ประกอบกิจการขายน้ำ จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกหกล้อคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างเพื่อส่งน้ำให้แก่ลูกค้า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนคำเบิกความ ซึ่งภาระการพิสูจน์ในส่วนนี้ตกแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองนำสืบปฏิเสธว่า จำเลยทั้งสองมิได้เป็นนายจ้างและลูกจ้างกัน จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบกิจการขายน้ำเอง จำเลยที่ 2 ให้ความช่วยเหลือจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 เป็นน้องชาย ดังนั้น สัญญารับสภาพหนี้ค่ารักษาพยาบาลที่จำเลยที่ 2 ยอมชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาล และชำระไปบางส่วนแล้วจำนวน 30,000 บาท จึงยังมิใช่พยานหลักฐานที่จะรับฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะเพียงใด โจทก์นำสืบว่า วันเกิดเหตุมีบริษัทเรียกผู้ตายเข้าทำงาน แต่ผู้ตายมาเสียชีวิตเสียก่อน และก่อนตายผู้ตายให้ค่าอุปการะโจทก์เดือนละ 5,000 บาท เห็นว่า โจทก์เบิกความลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ผู้ตายช่วยโจทก์และบิดาขายไก่ทอดซึ่งมีอยู่ 2 ร้าน มีรายได้รวมประมาณเดือน 40,000 บาท ถึง 50,000 บาท กิจการขายไก่ทอดจึงเป็นกิจการที่ร่วมกันค้าขาย 3 คน เมื่อนำรายได้มาถัวเฉลี่ยเป็นรายได้ของแต่ละคนแล้วจะมีรายได้คนละประมาณเดือนละ 13,000 บาท หากผู้ตายเก็บไว้ใช้จ่ายเองสองส่วนก็จะมีเงินให้เป็นค่าอุปการะแก่โจทก์หนึ่งส่วน จึงเห็นควรกำหนดค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงินเดือนละ 4,000 บาท รวม 10 ปี คิดเป็นค่าอุปการะ 480,000 บาท ส่วนการชำระค่าเสียหาย 100,000 บาท ในคดีอาญาไปก่อนหน้านั้น แม้จะเป็นการชำระไว้ในคดีอาญาก็ตาม แต่ถือว่าเป็นการชำระค่าเสียหายในส่วนแพ่ง จึงต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักจากค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์จะได้รับ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์เพิ่มเติมจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามา โดยขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามฟ้อง ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจึงเป็นเงินที่พิพาทกันเพียง 340,000 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาตามทุนทรัพย์ในศาลชั้นต้น จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามทุนทรัพย์ที่โจทก์เสียเกินมา และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลแก่จำเลยทั้งสอง 4,800 บาท เพราะเห็นว่า จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ทำนองว่า ค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงินเพียง 240,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นเงิน 360,000 บาท นั้น แม้ในอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีข้อความว่า จำเลยที่ 1 เห็นว่า ค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เดือนละ 5,000 บาท สูงเกินส่วน ที่เหมาะสมควรจะเป็นเงินเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 240,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองมีคำขอท้ายอุทธรณ์ว่า ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงมิได้ยอมรับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ได้พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ดังนี้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นเงิน 600,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลแก่จำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบ นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยที่ 2 ใหม่ เป็นการไม่ชอบเช่นเดียวกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 380,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 สิงหาคม 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในส่วนที่คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 4,800 บาท ที่เสียเกินมาแก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 5,200 บาท ที่เสียเกินมาแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share