คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7545/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ภายหลังเกิดเหตุ มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ที่ดินที่พิพาทตั้งอยู่ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2518 มีผลเป็นการเพิกถอนสภาพของป่าสงวนแห่งชาติในเขตตำบลอันเป็นท้องที่เกิดเหตุตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 26(4)ที่ดินที่เกิดเหตุไม่เป็นป่าสงวนแห่งชาติอีกต่อไป และถือได้ว่ามีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังยกเลิกความผิดของจำเลยทั้งสอง เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
คดีที่มีปัญหาเฉพาะข้อกฎหมาย แม้ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ก็ตาม แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าป่าอันเป็นที่เกิดเหตุไม่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินนั้นยังคลาดเคลื่อนต่อความจริงตามที่ปรากฏในแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีการะบุว่าแนวเขตปฏิรูปที่ดินในแผนที่ครอบคลุมถึงที่เกิดเหตุในคดีนี้ด้วยศาลฎีกาก็ชอบที่จะวินิจฉัยข้อเท็จจริงได้เองตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน
ภายหลังเกิดเหตุได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ท้องที่ที่เกิดเหตุเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ประกอบกับพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518มาตรา 26(4) มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ ดังนี้ เมื่อที่ดินเกิดเหตุสิ้นสภาพความเป็นป่าสงวนแห่งชาติโดยผลของกฎหมายดังกล่าว แม้จำเลยทั้งสองยังคงยึดถือครอบครองที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14,31 วรรคสองกรณีเป็นเรื่องที่มีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยทั้งสองย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างต้นเดือนมิถุนายน 2537 ถึงวันที่ 8 กันยายน 2537เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันบุกรุก ยึดถือครอบครอง แผ้วถาง ป่าโคกน้ำเค็มและป่าโคกดอนโพธิ์ ซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติในท้องที่ตำบลสร้างคอม อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี เป็นจำนวนเนื้อที่ 112 ไร่อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 14, 31, 35ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครอง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 จำคุกคนละ 3 ปี ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครอง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ภายหลังเกิดเหตุมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ตำบลเชียงดา ตำบลนาสะอาด ตำบลสร้างคอม ตำบลบ้านโคก อำเภอสร้างคอม ตำบลจอมศรี ตำบลโคกกลาง ตำบลเพ็ญ ตำบลบ้านธาตุ ตำบลบ้านเหล่า ตำบลสุมเส้า ตำบลเตาไห ตำบลเชียงหวาง อำเภอเพ็ญ ตำบลนาข่า อำเภอเมืองอุดรธานี ตำบลนาทราย ตำบลบ้านแดง ตำบลดอนกลอย กิ่งอำเภอพิบูลย์รักษ์ อำเภอหนองหาน และตำบลสะแบง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2537 ซึ่งออกตามความในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มีผลเป็นการเพิกถอนสภาพของป่าสงวนแห่งชาติในเขตตำบลสร้างคอม อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี อันเป็นท้องที่เกิดเหตุตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 26(4) ที่ดินที่เกิดเหตุไม่เป็นป่าสงวนแห่งชาติอีกต่อไป และถือได้ว่ามีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังยกเลิกความผิดของจำเลยทั้งสองนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แม้ว่าในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ก็ตาม แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯดังกล่าวปรากฏว่าป่าโคกน้ำเค็มและป่าโคกดอนโพธิ์อันเป็นที่เกิดเหตุคดีนี้อยู่นอกพื้นที่ส่วนที่ระบายด้วยสีเขียวที่ดินที่เกิดเหตุไม่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินนั้นยังคลาดเคลื่อนต่อความจริงเพราะตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ เอกสารหมาย ล.18ระบุว่าแนวเขตปฏิรูปที่ดินปรากฏตามแนวเส้นทึบในแผนที่นั้น ซึ่งครอบคลุมถึงที่เกิดเหตุในคดีนี้ด้วย ดังนั้น ที่ศาลอุทธณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกน้ำเค็มและป่าโคกดอนโพธิ์อันเป็นที่เกิดเหตุไม่เป็นเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 จึงไม่ถูกต้องศาลฎีกาชอบที่จะวินิจฉัยข้อเท็จจริงได้เองตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนโดยไม่จำต้องถือตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมา

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าภายหลังเกิดเหตุคดีนี้แล้วมีพระราชกฤษฎีกาฯ กำหนดให้ท้องที่ตำบลสร้างคอม อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี ซึ่งตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ ครอบคลุมถึงที่เกิดเหตุเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ประกอบกับพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 26 บัญญัติว่า

“เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินใช้บังคับในท้องที่ใดแล้ว

(4) ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก.จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น และให้ ส.ป.ก. มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ”

ที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าโคกน้ำเค็มและป่าโคกดอนโพธิ์ในท้องที่ตำบลสร้างคอม อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี ย่อมสิ้นสภาพความเป็นป่าสงวนแห่งชาติโดยผลของกฎหมายดังกล่าว แม้จำเลยทั้งสองยังคงยึดถือครอบครองที่ดินนั้นอยู่การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง กรณีเป็นเรื่องที่มีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยทั้งสองย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ไม่ริบมีดของกลาง แต่ให้คืนของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของ

Share