คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7536/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 14 ปี แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาปรากฏแก่ศาลฎีกาว่า จำเลยอายุเกิน 18 ปีแล้ว จึงไม่อาจส่งจำเลยไปรับการฝึกและอบรมตามคำพิพากษาของศาลล่างได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74(5) ถือว่าเป็นกรณีที่พฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งเดิมเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งเดิมได้ ตามมาตรา 74 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 138, 83, 80, 91 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 102 ริบของกลาง เว้นแต่ธนบัตรของกลางที่ใช้ล่อซื้อคืนเจ้าของ

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างสืบพยานจำเลย จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(2) ประกอบมาตรา 80, 138 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 อายุ 14 ปีจึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 แต่ให้ส่งจำเลยที่ 2 ไปรับการฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนดตั้งแต่ 2 ปี ถึง 3 ปี ริบของกลาง เว้นแต่ธนบัตรของกลางที่ใช้ล่อซื้อคืนเจ้าของ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดตามฟ้อง แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ส่งจำเลยที่ 2ไปรับการฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนดตั้งแต่ 2 ปี ถึง 3 ปี นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ขณะเกิดเหตุเมื่อปี 2539 จำเลยที่ 2 อายุ 14 ปี แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยที่ 2 อายุ 19 ปีแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74บัญญัติว่า เด็กอายุกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่เกินสิบสี่ปีกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้…(5) “ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรมหรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็กตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบแปดปี” ดังนั้นเมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกาเองว่า จำเลยที่ 2 อายุเกิน 18 ปีแล้วจึงไม่อาจส่งจำเลยที่ 2 ไปรับการฝึกและอบรมตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองได้ ถือว่าเป็นกรณีที่พฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งเดิมเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งเดิมได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 วรรคท้าย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้มารดาจำเลยที่ 2 รับตัวจำเลยที่ 2 ไปอบรมสั่งสอนและดูแลระมัดระวังมิให้จำเลยที่ 2 ก่อเหตุร้ายหรือกระทำผิดอาญาใด ๆ ขึ้นอีกภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟัง มิฉะนั้นศาลจะปรับครั้งละ 500 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74(2)

Share