คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7511/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จะถือว่าเป็นการแก้ไขมากตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง นั้น จะต้องเป็นการแก้ทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลง ซึ่งการแก้บทลงโทษนั้นมีความหมายถึงการเปลี่ยนบทลงโทษจากบทหนึ่งไปเป็นอีกบทหนึ่ง หรือเป็นการแก้วรรคในบทเดิม ซึ่งความผิดแต่ละวรรคมีโทษขั้นต่ำและขั้นสูงแตกต่างกันมาก และลักษณะความผิดในแต่วรรคนั้นแตกต่างกัน เช่น ความผิดในวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และอีกวรรคหนึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นต้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) เป็นเพียงการบังคับใช้กฎหมายเดิมและกฎหมายใหม่ในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 บัญญัติไว้เท่านั้น จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์แก้บทลงโทษ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์เพียงแต่แก้จำนวนโทษ มิได้แก้บทลงโทษจึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย ให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 และริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ และธนบัตรจำนวน 1,270 บาท ของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ปฏิเสธข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำคุกคนละ 30 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เห็นควรลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 15 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ส่วนธนบัตรของกลางจำนวน 1,270 บาท คืนให้แก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 8 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ชอบหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในสถานหนักตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น อันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง” จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นมานั้นเป็นการแก้ไขเล็กน้อยหรือแก้ไขมาก ในข้อนี้โจทก์กล่าวอ้างมาในฎีกาว่าเป็นการแก้ไขมากเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงลดโทษลงถึง 11 ปี เห็นว่า การแก้ไขมากจะต้องเป็นการแก้ทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลด ซึ่งการแก้บทลงโทษนั้นมีความหมายถึงการเปลี่ยนบทลงโทษจากบทหนึ่งไปเป็นอีกบทหนึ่ง หรือเป็นการแก้วรรคในบทเดิมซึ่งความผิดแต่ละวรรคมีโทษขั้นต่ำและขั้นสูงแตกต่างกันมากและลักษณะความผิดในแต่ละวรรคนั้นแตกต่างกัน เช่น ความผิดในวรรคหนึ่งเป็นความผิดยอมความได้และอีกวรรคหนึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) เป็นเพียงการบังคับใช้กฎหมายเดิมและกฎหมายใหม่ในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติไว้เท่านั้น จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แก้บทลงโทษตามนัยดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพียงแต่แก้จำนวนโทษ มิได้แก้บทลงโทษแล้วจึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยอันเป็นข้อยกเว้นที่ให้อำนาจศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 บัญญัติไว้แล้ว ศาลชั้นต้นก็จะสั่งรับฎีกาของโจทก์ไว้ไม่ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share