คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6061/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เอกสารที่บริษัทจำเลยมีไปถึงโจทก์ยังต่างประเทศมีข้อความว่า จำเลยขอว่าจ้างโจทก์ให้มาทำงานกับจำเลยในตำแหน่งหัวหน้าแผนกรับผิดชอบแผนกช่างซ่อมเป็นเวลา 2 ปี เงินเดือน 45,000 เหรียญใต้หวันเป็นคำเสนอจ้างโจทก์ให้มาทำงานกับจำเลย เมื่อโจทก์ได้เดินทางเข้ามาทำงานกับจำเลยในประเทศไทยแล้ว ข้อเสนอต่าง ๆ ในเอกสารดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับและผูกพันโจทก์จำเลยให้ต้องปฏิบัติถือได้ว่าโจทก์จำเลยได้มีสัญญาจ้างต่อกันแล้ว ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า กำหนดระยะเวลาจ้าง 2 ปีที่กำหนดไว้ในเอกสารท้ายฟ้องขัดต่อกฎหมายนั้น จำเลยมิได้ยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ส่วนข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ลาออกจากงานเอง จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์นั้น ก็ปรากฏว่าจำเลยให้การและศาลแรงกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยให้โจทก์ออกจากงาน อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงนอกเหนือไปจากคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายรวม575,625 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า สัญญาจ้างโจทก์เป็นช่างซ่อมเครื่องจักรของบริษัทจำเลยเป็นนิติกรรมอำพราง จำเลยไม่ต้องผูกพัน โจทก์ซ่อมแซมเครื่องจักรไม่รับผิดชอบ มีเจตนากลั่นแกล้งจำเลย จำเลยตักเตือนให้โจทก์แก้ไข โจทก์กับหยุดงานประท้วงจำเลยจึงให้โจทก์ออกจากงาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ต้องจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ 40,050 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานกลางวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่า แม้โจทก์จะได้เข้ามาทำงานกับจำเลยในประเทศไทยแล้วข้อกำหนดในเรื่องระยะเวลา 2 ปีที่ระบุไว้ในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ก็ไม่มีผลผูกพันจำเลย และขัดต่อกฎหมายที่ควบคุมชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จึงตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ลงนามโดยนายบุญชู พงษ์เฉลิม ประธานกรรมการบริษัทจำเลย และประทับตราบริษัทจำเลยด้วย เอกสารดังกล่าวนี้มีไปถึงโจทก์ และมีข้อความจำเลยขอว่าจ้างโจทก์ให้มาทำงานกับจำเลยในตำแหน่งหัวหน้าแผนกรับผิดชอบแผนกช่างซ่อม ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2530 ถึงวันที่31 มกราคม 2532 ระยะเวลา 2 ปี เงินเดือน 45,000 เหรียญไต้หวันฯลฯ เอกสารดังกล่าวจึงเป็นคำเสนอจ้างโจทก์ให้มาทำงานกับจำเลยเมื่อโจทก์ได้เดินทางเข้ามาทำงานกับจำเลยในประเทศไทยแล้วข้อเสนอต่าง ๆ ในเอกสารดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับและผูกพันโจทก์จำเลยต้องปฏิบัติ อันถือได้ว่าโจทก์จำเลยได้มีสัญญาจ้างต่อกันแล้ว ส่วนข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า กำหนดระยะเวลาจ้าง 2 ปีที่กำหนดไว้ในเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวขัดต่อกฎหมายนั้น ข้อนี้จำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์ลาออกจากงานเอง จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า เกี่ยวกับเรื่องที่โจทก์ลาออกจากงานเอง หรือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้น ตามคำให้การของจำเลยระบุว่า จำเลยให้โจทก์ออกจากงานและศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยให้โจทก์ออกจากงาน แต่จำเลยกลับอุทธรณ์ว่าโจทก์ลาออกจากงานเอง ดังนี้จึงเป็นอุทธรณ์นอกเหนือไปจากคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share