คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1722/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาซื้อที่ดินและตึกจากส. โดยโจทก์มิได้รู้เห็นเกี่ยวข้องด้วย และจำเลยไม่เคยบอกให้โจทก์ทราบ โจทก์ทราบ โจทก์จึงไม่อาจคาดเห็น หรือควรจะได้คาดเห็นล่วงหน้าว่าจำเลยจะเอาเงินค่าตอบแทนการโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาท ที่โจทก์จะต้องชำระให้จำเลยไปชำระให้ ส.เมื่อจำเลยถูกส.ริบมัดจำเพราะผิดสัญญากับส.เอง ไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ และไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงจากการผิดสัญญาของโจทก์ ดังนี้ โจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยเพราะไม่ใช่ค่าเสียหายซึ่งตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ตามมาตรา 222 และไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายตามมาตรา 215 ทั้งไม่ใช่ค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตาม มาตรา 222 วรรคท้ายด้วย
โจทก์เสียค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ไม่ครบ เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะต้องเรียกเพิ่มเติมเสียให้ถูกต้องต่อไป ไม่ทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งพิพากษาไปแล้วสิ้นผลแต่ประการใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2511 จำเลยทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิการเช่าตึกแถวให้โจทก์มีกำหนดเวลา 12 ปี โดยโจทก์เสียค่าตอบแทนให้จำเลยเป็นเงิน 192,000 บาท โจทก์วางมัดจำในวันทำสัญญา 40,000 บาท ส่วนที่เหลือ 152,000 บาท โจทก์จะชำระให้จำเลยภายใน 2 เดือน นับแต่วันทำสัญญา ต่อมาปลายเดือนกรกฎาคม 2511 จำเลยแจ้งว่าไม่สามารถไปจดทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอได้เพราะที่ดินและตึกแถวติดจำนองธนาคาร ให้โจทก์ไปทำสัญญาเช่าที่บ้านจำเลย และไม่ยอมคืนเงินมัดจำ จึงขอให้บังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าตึกแถวดังกล่าวให้โจทก์ตามสัญญา ถ้าไม่สามารถจะจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ได้ ก็ให้จำเลยคืนมัดจำและใช้ค่าเสียหาย

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าได้ทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าตึกแถวตามฟ้องและรับเงินมัดจำ 40,000 บาทจากโจทก์จริง แต่ไม่ได้ตกลงให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิการเช่าเพียงแต่ตกลงกันให้เจ้าของตึกแถวทำสัญญาเช่าให้โจทก์ 4 ฉบับ กำหนดเวลาเช่าฉบับละ 3 ปี โจทก์ผิดนัดไม่ชำระเงิน 152,000 บาท ตามสัญญา จำเลยชอบที่จะริบมัดจำ

เนื่องจากจำเลยจะต้องออกจากตึกแถวตามสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ จำเลยจึงไปทำหนังสือสัญญาซื้อขายอาคารและที่ดินจากนางสาวสุธีรา เป็นเงิน 200,000 บาท วางมัดจำไว้ 80,000 บาท โดยเชื่อว่าเมื่อโจทก์ชำระเงินที่เหลือตามสัญญาแล้ว จำเลยจะได้เอาเงินนั้นไปชำระให้นางสาวสุธีรา แต่โจทก์ผิดนัด เป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถจะชำระเงินงวดต่อไปให้นางสาวสุธีรา นางสาวสุธีราจึงริบเงินมัดจำของจำเลย ทำให้จำเลยเสียหายเมื่อหักกับเงินมัดจำที่โจทก์ชำระแก่จำเลยแล้ว จำเลยยังต้องเสียหายอีก 40,000 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ขณะทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าตึกแถวโจทก์เชื่อว่าตึกแถวเป็นของจำเลย จำเลยปกปิดเรื่องกรรมสิทธิ์สัญญาจึงเกิดขึ้นด้วยกลฉ้อฉลของจำเลย เป็นโมฆียะ โจทก์บอกกล่าวและฟ้องคดีแล้วถือว่าสัญญาเลิกกัน จำเลยต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์สัญญาระหว่างจำเลยกับนางสาวสุธีราไม่ผูกพันโจทก์ การผิดสัญญาไม่ใช่เป็นผลเกิดจากโจทก์ โจทก์ไม่ต้องรับผิด จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้จำเลย 40,000 บาท ตามฟ้องแย้งของจำเลย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่าให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย ที่ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้จำเลยเสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเอง โดยไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือให้จำเลยภายในกำหนดตามสัญญา จำเลยริบมัดจำของโจทก์ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิจะเรียกมัดจำคืน และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย

ส่วนประเด็นค่าเสียหายตามฟ้องแย้งของจำเลยนั้น แม้จะฟังตามที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยได้ทำสัญญากับนางสาวสุธีราและจำเลยถูกริบมัดจำก็ตาม แต่ความเสียหายของจำเลยที่ถูกริบมัดจำนั้นเป็นเรื่องจำเลยผิดสัญญากับนางสาวสุธีราเอง ไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงจากการผิดสัญญาของโจทก์ จึงไม่ใช่ค่าเสียหายซึ่งตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคแรก และไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายตามมาตรา 215 ดังจำเลยอ้างหากจะเป็นได้ ก็คือค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ตามมาตรา 222 วรรคท้ายแต่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยไปทำสัญญากับนางสาวสุธีราโดยโจทก์มิได้รู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยทั้งได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่าการทำสัญญากับนางสาวสุธีราไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบ ดังนี้ โจทก์จึงไม่อาจคาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นล่วงหน้า ว่าจำเลยจะเอาเงินจากโจทก์ไปชำระให้นางสาวสุธีรา ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์รู้ว่าจำเลยจะต้องออกจากห้องแถวพิพาท โจทก์ควรรู้ว่าจำเลยต้องใช้เงินในการหาที่อยู่ใหม่นั้น เห็นว่าจำเลยอาจมีที่อยู่ใหม่อยู่แล้วหรืออาจไปอาศัยใครอยู่โดยไม่ต้องทำสัญญากับนางสาวสุธีราก็ได้ การที่จำเลยจะไปอยู่ที่ไหนอย่างไร จึงไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ควรรู้ล่วงหน้า ค่าเสียหายดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ให้จำเลยตามฟ้องแย้ง

จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์เสียค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ไม่ครบ ซึ่งจำเลยได้โต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์แล้ว แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยประการใด นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์จะต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุนทรัพย์ 80,000 บาท จริง แต่เมื่อศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ขาดไปก็เป็นเรื่องศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะต้องเรียกเพิ่มเติมเสียให้ถูกต้อง ไม่ทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งพิพากษาไปแล้วสิ้นผลแต่ประการใด

พิพากษายืน

Share