แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว โดยการเคาะไม้ไล่ต้อนสัตว์ป่าเพื่อให้พวกของจำเลยที่ดักซุ่มรออยู่ใช้อาวุธปืนยิงล่าสัตว์ป่าดังกล่าวซึ่งดำรงชีพอยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ มาตรา 4 ให้คำนิยามของคำว่า “ล่า” หมายความว่า เก็บ ดัก จับ ยิงฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใดแก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระ และหมายความรวมถึงการไล่ การต้อน การเรียก หรือการล่อเพื่อการกระทำดังกล่าวด้วย ดังนั้น การเคาะไม้ไล่ต้อนสัตว์ป่าจึงอยู่ในความหมายของคำว่า “ล่า” ตามคำนิยาม ดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบของความผิดและเป็นความผิดสำเร็จฐานล่าสัตว์ป่าตามฟ้อง มิใช่เป็นความผิดฐานพยายามล่าสัตว์ป่า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2548 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ จำเลยกับพวกร่วมกันมีอาวุธปืนยาวประจุปาก (ปืนแก๊ป) ชนิดประกอบขึ้นเองไม่มีหลายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ จำนวน 2 กระบอก และกระสุนปืนยาวประจุปากจำนวน 1 ชุด ประกอบด้วย ดินปืน 1 ขวด แก๊ปปืน 1 ขวด ลูกตะกั่ว 1 ขวด ฝอยมะพร้าว 1 ห่อ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยกับพวกร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปตามถนนในหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ อันเป็นหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว และไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จำเลยกับพวกร่วมกันเข้าไปในบริเวณป่ายอดห้วยแหลป่าเตย หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว แล้วร่วมกันทำอัตรายและทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้กฤษณา โดยร่วมกันทำลาย ตัดต้นไม้ โดยใช้มีดและขวานทำการตัดฟันต้นไม้กฤษณาออกจากต้นแล้วเก็บหาชิ้นไม้กฤษณาอันเป็นของป่าหวงห้าม และจำเลยกับพวกได้ร่วมกันล่าสัตว์ป่าโดยการใช้เคาะไม้ไล่ต้อนสัตว์ป่าเพื่อให้พวกของจำเลยที่ดักซุ่มรออยู่ใช้อาวุธปืนยิงล่าสัตว์ป่าดังกล่าวซึ่งดำรงอยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เหตุเกิดที่ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เกี่ยวพันกัน เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดอาวุธปืนยาวประจุปาก (ปืนแก๊ป) 2 กระบอก เครื่องกระสุนปืนยาวประจุปาก 1 ชุด ประกอบด้วย ดินปืน 1 ขวด แก๊ปปืน 1 ขวด ลูกตะกั่ว 1 ขวด และฝอยมะพร้าว 1 ห่อ เลื่อยตัดไม้ 1 ปื้น ขวาน 3 เล่ม มีดปลายแหลม 1 เล่ม ไฟฉาย 1 กระบอกแบตเตอรี่ 3 ชุด เปลนอน 4 เปล ผ้ากันฝน 1 ผืน ข้าวสารเหนียว 7 กิโลกรัม ซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเลยใช้ในการกระทำผิดไว้เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 4, 33, 35, 36, 37, 38, 53, 54, 63 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียบอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญ มาตรา 32, 33, 83, 91, 371 ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 36, 37 วรรคหนึ่ง, 38 วรรคหนึ่ง, 53, 54 วรรคหนึ่ง, 57 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำลายต้นไม้หรือพฤกษชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 9 เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันทำลายไม้กฤษณา โดยใช้มีดและขวานฟันออกจากต้นแล้วเก็บชิ้นไม้กฤษณาซึ่งเป็นของป่าหวงห้าม อีกทั้งยังได้ร่วมกันล่าสัตว์ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซึ่งเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ โดยเจ้าพนักงานยึดได้อาวุธและเครื่องมือที่จำเลยกับพวกใช้ในการกระทำผิดหลายรายการ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ และให้ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันทำลายต้นไม้หรือพฤกษชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุก 6 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 3 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นแล้วคงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้องขาดองค์ประกอบความผิดฐานล่าสัตว์ป่าหรือเป็นเพียงความผิดฐานพยายามล่าสัตว์ป่านั้น ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพฟังได้ว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวโดยการเคาะไม้ไล่ต้อนสัตว์ป่าเพื่อให้พวกของจำเลยที่ดักซุ่มรออยู่ใช้อาวุธปืนยิงล่าสัตว์ป่าดังกล่าวซึ่งดำรงชีพอยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 4 ให้คำนิยามของคำว่า “ล่า” หมายความว่า เก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใดแก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระ และหมายความรวมถึงการไล่ การต้อน การเรียก หรือการล่อเพื่อการกระทำดังกล่าวด้วย ดังนั้น การเคาะไม้ไล่ต้อนสัตว์ป่าจึงอยู่ในความหมายของคำว่า “ล่า” ตามคำนิยามดังกล่าว การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบของความผิดและเป็นความผิดสำเร็จฐานล่าสัตว์ป่าตามฟ้อง มิใช่เป็นเพียงความผิดฐานพยายามล่าสัตว์ป่าดังที่จำเลยเข้าใจอีกด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษในสถานเบาหรือรอการลงโทษนั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและมีภาระต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัว แต่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรม โดยร่วมกับพวกมีและพาอาวุธปืนเข้าไปในป่ายอดห้วยแหลป่าเตย ซึ่งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และร่วมกันใช้มีดและขวานตัดฟันต้นไม้กฤษณาออกจากต้นแล้วเก็บหาชิ้นไม้กฤษณาอันเป็นของป่าหวงห้าม โดยไม่ได้รับอนุญาตและยังร่วมกันล่าสัตว์ป่าซึ่งดำรงชีพอยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดังกล่าวอีกด้วย ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าเป็นภัยต่อทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ พฤติการณ์จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษจำคุกนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน