คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 750/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เครื่อง UPS หน้าที่หลักในการแปลงกระแสไฟฟ้ามาสำรองไว้ แล้วนำไปใช้เฉพาะกรณีมีเหตุขัดข้องในการจ่ายไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าหลักเป็นการชั่วคราวในระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อมิให้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าบางประเภทต้องหยุดทำงานกะทันหันจนเกิดความเสียหายเท่านั้น มิได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าตามปกติดังเช่นแบตเตอรี่ จึงไม่อาจถือว่าเครื่อง UPS เป็นแบตเตอรี่ นอกจากนี้ส่วนประกอบของแบตเตอรี่ที่อยู่ในเครื่อง UPS ก็ถือเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ไม่อาจแยกการทำงานออกจากส่วนประกอบอื่นของเครื่อง UPS ได้ ดังนั้น เครื่อง USP จึงไม่อยู่ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ประเภทที่ 08.90 (4) จึงเก็บภาษีสรรพสามิตตามการประเมินในรายการของเครื่อง UPS ไม่ได้
กรณีที่โจทก์ชำระภาษีตามคำสั่งของพนักงานหน้าที่ ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่โจทก์ชำระภาษีในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของจำนวนเงินที่ได้รับ โดยไม่คิดทบต้นและมิให้เกินกว่าจำนวนเงินที่ได้รับคืนตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ มาตรา 110 ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2527) ออกตามความใน พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสั่งให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษี แต่เมื่อโจทก์ขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงให้เพียงเท่าที่โจทก์ขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์นำสินค้าเครื่องเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่ หรือ USP (UNINTERRUPTION POWER SUPPLY) เข้ามาในราชอาณาจักรรวม 7 ใบขนสินค้าขาเข้า ขณะที่โจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้า ฉบับที่ 1 และที่ 2 นั้น โจทก์ไม่ได้สำแดงอัตราภาษีสรรพสามิตและภาษีเพื่อมหาดไทย พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่แทนจำเลยที่ 2 ได้จับกุมสินค้าดังกล่าว โจทก์โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีทั้งสองประเภทดังกล่าว เพราะเครื่องเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่ไม่ได้ทำงานเสมือนการใช้งานเช่นแบตเตอรี่ และไม่เป็นแบตเตอรี่ โจทก์ได้วางประกันเพื่อเอาสินค้าออกจากอารักขาของจำเลยที่ 1 ส่วนภาษีศุลกากรนั้น โจทก์ได้สำแดงและชำระภาษีถูกต้อง จำเลยที่ 1 ได้ส่งแฟ้มจับกุมใบขนสินค้าขาเข้าฉบับที่ 1 และที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 พิจารณา ระหว่างรอการพิจารณาของจำเลยที่ 2 โจทก์นำเครื่องเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่เข้ามาในราชอาณาจักรอีก 5 ครั้ง โจทก์ยอมชำระภาษีสรรพามิตในอัตราร้อยละ 10 และภาษีเพื่อมหาดไทยร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิตไปก่อน โดยโต้แย้งคัดค้านการเรียกเก็บภาษีทั้งสองประเภทไว้ด้านหลังใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 7 ฉบับ ที่พิพาทรวมเป็นเงิน 1,234,300 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือตอบข้อหารือมายังจำเลยที่ 1 และโจทก์ว่า เครื่องเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่ทำงานเสมือนการใช้งานเช่นแบตเตอรี่และมีแบตเตอรี่ในตัวเครื่องด้วย จึงจัดเข้าประเภทพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่ 08.90 อัตราภาษีร้อยละ 10 โจทก์ไม่เห็นด้วยกับหนังสือตอบข้อหารือ จึงได้มีหนังสือไปยังจำเลยที่ 2 ชี้แจงถึงคุณลักษณะและการทำงานหลักของตัวเครื่องประกอบด้วย RECTIFIER/CHARGER BATTERY INVERTER VOLTAGE REGULATOR STATIC BY – PASS SWICH โดยได้รับกระแสไฟฟ้าจากเครื่องจ่ายกำลังไฟคือ แหล่งจ่ายไฟหลัก (MAIN SUPPLY) เครื่องกำเนินไฟฟ้า (GENERATOR) เครื่องเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่มีหลักการทำงานโดยตัวเองเครื่องจะถูกต่อเข้ากับแหล่งจ่ายไฟหลัก กระแสไฟฟ้าที่ได้จะผ่านไปยัง RECTIFIER เพื่อแปลงจากไฟฟ้ากระแสสลับเป็นกระแสตรง กระแสไฟฟ้าส่วนหนึ่งจะถูกนำไปประจุไฟแบตเตอรี่อีกส่วนหนึ่งจะส่งไป INVERTER เพื่อเปลี่ยนจากกระแสตรงเป็นกระแสสลับ มีความถี่ตามที่กำหนดตามความต้องการใช้ และกระแสไฟฟ้านี้จะถูกควบคุมแรงดันให้สม่ำเสมอเพื่อนำไปใช้งาน เมื่อแหล่งจ่ายไฟขัดข้อง เครื่องเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่จะต่อตัวเองโดยอัตโนมัติเข้ากับแบตเตอรี่ซึ่งเป็นแหล่งจ่ายไฟสำรอง โดยผ่าน INVERTER เพื่อแปลงไฟฟ้ากระแสตรงให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับแล้วนำไปจ่ายให้แก่เครื่องมืออุปกรณ์เป็นเวลา 5 ถึง 20 นาที แล้วแต่ชนิดและขนาดของแบตเตอรี่ เมื่อเวลาผ่านไปเกินกว่า BACK – UP TIME ที่กำหนดไว้แล้ว แหล่งจ่ายไฟหลักยังไม่สามารถจ่ายไฟได้เครื่องเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่นี้จะต่อเข้ากับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือใช้คนควบคุมเพื่อจ่ายไฟให้แก่ระบบจนกว่าแหล่งจ่ายไฟหลักจะสามารถจ่ายไฟได้ตามปกติสำหรับเครื่องเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่นั้นจำเลยที่ 1 ได้จัดประเภทพิกัดอัตราภาษีศุลกากรที่ 8504.40 อัตราอากรร้อยละ 3 ไม่ว่าจะนำเข้ามาในลักษณะพร้อมแบตเตอรี่หรือไม่ก็ตาม เพราะถือว่าแบตเตอรี่เป็นเพียงส่วนประกอบของเครื่องเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่ โดยไม่ถือว่าเครื่องเปลี่ยนนกระแสไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่เป็นแบตเตอรี่แต่จำเลยที่ 2 จัดเข้าประเภทพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่ 08.90 โดยให้เหตุผลว่าตัวเครื่องเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่มีแบตเตอรี่อยู่ในตัวเครื่องด้วย และการทำงานเสมือนการใช้งานเช่นแบตเตอรี่จึงถือเป็นแบตเตอรี่ ต้องเสียภาษีสรรพสามิตและภาษีเพื่อมหาดไทยซึ่งโจทก์ไม่เห็นด้วย โจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้คืนเงินภาษีสรรพสามิตและภาษีเพื่อมหาดไทยจำนวน 1,234,300 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับหนังสือแล้วแต่เพิกเฉย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามใบขนสินค้าขาเข้าแต่ละฉบับ โดยคิดจากวันที่โจทก์ชำระภาษีถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 52,537.80 บาท รวมกับต้นเงินเป็นเงิน 1,286,837.80 บาท ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินจำนวน 1,286,837.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,234,300 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า เครื่องสำรองกระแสไฟฟ้าใช้สำหรับเครื่องประมวลผลอัตโนมัติ (UPS) ที่โจทก์นำเข้า เป็นสินค้าอยู่ในพิกัดอัตราภาษีศุลกากรประเภทที่ 8504.40 และอยู่ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตประเภทที่ 08.90 อันเป็นประเภทพิกัดของสินค้าแบตเตอรี่ การนำเข้าจึงต้องชำระภาษีสรรพสามิตตามพิกัดดังกล่าว โจทก์นำเข้าเครื่อง UPS รวม 7 ใบขนสินค้าขาเข้า โดยใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 0104 00646 00316 และใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 0103 00346 01545 โจทก์ไม่ได้ชำระภาษีสรรพสามิต พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงได้ทำบันทึกจับกุมและประเมินภาษีสรรพสามิต โจทก์ได้ชำระภาษีสรรพสามิตแล้ว และต่อมาได้นำเข้าเครื่อง UPS อีก 5 ใบขนสินค้าขาเข้า โดยได้ชำระภาษีสรรพสามิตครบถ้วน โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับคืนค่าภาษีสรรพสามิตในส่วนดังกล่าว การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของจำเลยที่ 2 อาศัยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 และพระราชกฤษฎีกากำหนดประเภทสินค้าตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2540 กำหนดให้แบตเตอรี่เป็นสินค้าที่ต้องจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ประเภทที่ 08.90 และมีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตของแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียวไม่ได้แยกย่อยเป็นพิกัดของ UPS เช่นเดียวกับพิกัดอัตราภาษีศุลกากร โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยจากการชำระภาษีสรรพสามิตดังกล่าวเนื่องจากการที่โจทก์นำเข้าเครื่องสำรองกระแสไฟฟ้าใช้สำหรับเครื่องประมวลผลอัตโนมัติ (UPS) นั้น ต้องเสียภาษีสรรพสามิตประเภทพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่ 08.90 ในอัตราภาษีร้อยละ 10 เพราะเครื่อง UPS มีวัตถุประสงค์หลักคือการสำรองไฟฟ้าและจ่ายกระแสไฟฟ้าออกมาโดยไม่ให้กระแสไฟฟ้าขาดตอน ทำให้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง เป็นการทำงานเช่นเดียวกับแบตเตอรี่จึงจัดเป็นสินค้าที่อยู่ในประเภทพิกัดเดียวกับแบตเตอรี่ การนำเข้าสินค้า UPS จึงต้องชำระภาษีสรรพสามิต โจทก์ได้ชำระภาษีถูกต้องแล้ว ไม่มีสิทธิเรียกคืนภาษีพร้อมดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย (ที่ถูก จำเลยทั้งสอง) โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์ต้องเสียภาษีสรรพสามิตและภาษีเพื่อมหาดไทยร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิตตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้งเจ็ดฉบับตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เครื่อง UPS มีส่วนประกอบสำคัญคือ 1.RECTIFIER/CHARGER 2.INVERTER 3.VOLTAGE REGULATOR 4.STATIC BY PASS SWITCH และ 5.POWER SOURCE ซึ่งมาจาก 3 แหล่งคือ MAIN SUPPLY, BATTERY และ EIECTRIC GENERATOR เครื่อง UPS จะถูกต่อเข้ากับแหล่งจ่ายไฟฟ้าหลัก กระแสไฟฟ้าที่ได้จะผ่านไปยับ RECTIFIER เพื่อแปลงไฟฟ้าจากกระแสสลับเป็นกระแสตรง โดยกระแสไฟฟ้าส่วนหนึ่งจะถูกนำไปประจุในแบตเตอรี่ให้เต็มอยู่เสมอ ส่วนกระแสไฟฟ้าที่เหลือจะผ่านไป INVERTER เพื่อเปลี่ยนจากไฟฟ้ากระแสตรงให้เป็นกระแสสลับ ในสภาวะที่แหล่งจ่ายไฟฟ้าหลักอยู่ในสภาพปกติ UPS จะทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพไฟฟ้าโดยทำหน้าที่กรองคลื่นไฟฟ้า ปรับแรงดันและปรับความถี่ไฟฟ้าให้เหมาะสม แต่เมื่อใดที่แหล่งจ่ายไฟฟ้าขัดข้อง เครื่องนี้จะต่อตัวเองโดยอัตโนมัติเข้ากับแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าสำรอง โดยผ่านทาง INVERTER เพื่อแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ และนำไปจ่ายให้แก่เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางไฟฟ้าเป็นเวลา 5 ถึง 20 นาที แล้วแต่ชนิดและขนาดของแบตเตอรี่ที่ใช้ซึ่งเรียกว่า BACK – UP TIME แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกินกว่า BACK – UP TIME ที่กำหนดแหล่งจ่ายไฟหลักยังไม่สามารถจ่ายไฟได้ เครื่องนี้จะต่อเข้ากับเครื่องปั่นไฟอัตโนมัติเพื่อจ่ายไฟให้ระบบจนกว่าแหล่งจ่ายไฟจะสามารถจ่ายไฟได้ตามปกติ และเครื่องนี้ก็จะกลับไปใช้ไฟจากแหล่งจ่ายไฟหลักตามเดิม จากส่วนประกอบและการทำงานของเครื่อง UPS จะเห็นได้ว่า เครื่อง UPS มีส่วนประกอบหลายส่วน แต่ละส่วนมีหน้าที่ในการทำงานแตกต่างกันไป โดยส่วนประกอบหลักซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ในการใช้เครื่อง UPS จะทำหน้าที่นำไฟฟ้ากระแสสลับจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าหลักผ่านเข้า RECTIFER เพื่อแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสตรง แล้วนำไปสำรองไว้ในกรณีที่แหล่งจ่ายไฟฟ้าหลักอยู่ในสภาพปกติ UPS จะทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพกระแสไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการใช้งาน และเมื่อใดที่แหล่งจ่ายไฟฟ้าขัดข้องจนไม่อาจจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ก็จะนำไฟฟ้ากระแสตรงที่สำรองไว้มาผ่านเข้า INVERTER โดยอัตโนมัติเพื่อแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับแล้วนำไปจ่ายให้แก่เครื่องมือหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่กำลังทำงานอยู่แทนแหล่งจ่ายไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว เครื่อง UPS จึงมีหน้าที่หลักในการแปลงกระแสไฟฟ้ามาสำรองไว้ แล้วนำไปใช้เฉพาะกรณีมีเหตุขัดข้องในการจ่ายไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าหลักเป็นการชั่วคราวในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อมิให้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าบางประเภทต้องหยุดทำงานกะทันหันจนเกิดความเสียหายเท่านั้น มิได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าตามปกติดังเช่นแบตเตอรี่ จึงไม่อาจถือว่าเครื่อง UPS เป็นแบตเตอรี่ นอกจากนี้ส่วนประกอบของแบตเตอรี่ที่อยู่ในเครื่อง UPS ก็ถือเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ไม่อาจแยกการทำงานออกจากส่วนประกอบอื่นของเครื่อง UPS ได้ดังนั้น เครื่อง UPS จึงไม่อยู่ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ประเภทที่ 08.90 (4) จึงเก็บภาษีสรรพสามิตตามการประเมินในรายการของเครื่อง UPS ไม่ได้ แต่สำหรับสินค้ารายการที่ 1 ตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 0104 00746 02586 ระบุว่าเป็นแบตเตอรี่ (BATTERY CABINET) แยกต่างหากจากรายการอื่น คิดเป็นภาษีสรรสามิต 13,371 บาท และภาษีเพื่อมหาดไทย 1,338 บาท โจทก์จึงไม่อาจขอคืนภาษีสรรพสามิตและภาษีเพื่อมหาดไทยในส่วนนี้ได้ จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินภาษีสรรพสามิตและภาษีเพื่อมหาดไทยที่โจทก์ชำระจำนวน 1,219,591 บาท สำหรับดอกเบี้ยนั้นเมื่อเป็นกรณีที่โจทก์ชำระภาษีตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่จึงให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่โจทก์ชำระภาษีในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของจำนวนเงินที่ได้รับ โดยไม่คิดทบต้นและมิให้เกินกว่าจำนวนเงินที่ได้รับคืนตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 110 ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสั่งให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษี แต่อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์ขอดอกเบี้ยมาในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงให้เพียงเท่าที่โจทก์ขอ”
พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,219,591 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 26,342 บาท นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2546 ในต้นเงิน 198,751 บาท นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2546 ในต้นเงิน 474,021 บาท นับแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2546 ในต้นเงิน 152,985 บาท นับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2546 ในต้นเงิน 206,742 บาท นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2546 ในต้นเงิน 19,310 บาท นับแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2546 ในต้นเงิน 141,440 บาท นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2546 แต่ในส่วนของดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 52,537.80 บาท ตามที่โจทก์ขอ และดอกเบี้ยทั้งหมดต้องไม่เกินต้นเงินในแต่ละจำนวนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share