แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
่ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงนั้นเป็นความผิดที่ร่วมกันกระทำผิดได้ โดยผู้ร่วมกระทำผิดไม่จำต้องเป็นผู้ลงมือกระทำชำเราด้วยกันทุกคน เพียงแต่คนใดคนหนึ่งกระทำชำเราผู้ร่วมกระทำผิดทุกคนก็มีความผิดฐานเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ทั้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 บัญญัติแต่เพียงว่า “ผู้ใดกระทำชำเรา ฯลฯ” หาได้บัญญัติให้ลงโทษแต่เฉพาะชายเท่านั้นไม่ แม้จำเลยจะเป็นหญิงแต่เมื่อร่วมกระทำผิดกับชายกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 ประกอบกับมาตรา 83
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกับนายสุริยากระทำชำเราเด็กหญิงคำมูลอายุ ๑๒ ปี โดยร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย โดยใช้กำลังกายกอดปล้ำจับแขนและขาเด็กหญิงคำมูลขณะกำลังนอนอยู่แล้ว นายสุริยาได้กระทำชำเราโดยใช้อวัยวะสืบพันธุ์ใส่เข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของเด็กหญิงคำมูลจนสำเร็จความใคร่รวม ๒ ครั้ง ทั้งนี้โดยเด็กหญิงคำมูลไม่ยินยอม อันเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗, ๘๓ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๗
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗, ๘๓ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ซึ่งตามทางพิจารณาปรากฏว่าผู้เสียหายถูกข่มขืนและจำเลยได้ร่วมด้วยรวม ๓ ครั้ง แต่โจทก์บรรยายการกระทำผิดของจำเลยเพียง ๒ ครั้ง จึงให้วางโทษจำคุกกรรมละ ๒ ปี รวม ๒ กรรม เป็นคำคุก ๔ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงหรือกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบสามปีนั้นเป็นความผิดที่ร่วมกันกระทำผิดได้ โดยผู้ร่วมกระทำผิดไม่จำต้องเป็นผู้ลงมือกระทำชำเราด้วยกันทุกคน เพียงแต่คนใดคนหนึ่งกระทำชำเราผู้ร่วมกระทำผิดทุกคนก็มีความผิดฐานเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ทั้งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ บัญญัติแต่เพียงว่า ผู้ใดกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบสามปี มีความผิดต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ หาได้บัญญัติให้ลงโทษแต่เฉพาะชายเท่านั้นไม่ ดังนั้น แม้จำเลยจะเป็นหญิงแต่เมื่อได้ร่วมกระทำผิดกับชายกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ ประกอบกับมาตรา ๘๓
พิพากษายืน