คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 895/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่หน้าร้านอาหารที่เกิดเหตุและใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้เสียหายที่ 2 ที่อยู่บริเวณหน้าร้าน กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ซึ่งลักษณะบาดแผลของผู้เสียหายที่ 2 ที่ถูกยิงบริเวณหัวไหล่ บ่งชี้ว่าเป็นการยิงไปยังส่วนบนของร่างกายซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกอวัยวะสำคัญของผู้เสียหายที่ 2 ถึงแก่ความตายได้ อันถือเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่า เมื่อการกระทำไม่บรรลุผล จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 และกระสุนปืนยังพลาดไปถูกผู้เสียหายที่ 3 ที่บริเวณไหปลาร้า ต้องถือว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 3 เช่นเดียวกันตาม ป.อ มาตรา 60 แต่การกระทำไม่บรรลุผล จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 3 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 60, 80, 83, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 60, 80 และมาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยกระทำความผิดขณะอายุ 19 ปี ย่อมรู้สำนึกในการกระทำ ไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 10 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 20 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนฯ จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 21 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 14 ปี 4 เดือน ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 กับพวก คงลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 กับพวก ฐานมีอาวุธปืนฯ และฐานพาอาวุธปืนฯ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น รวมจำคุก 11 ปี 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเป็นอันยุติไปในชั้นอุทธรณ์ ส่วนความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกินห้าปี และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน การที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดและขอให้ยกฟ้องเกี่ยวกับความผิดฐานนี้ขึ้นมา เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 กับพวกหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 2 นายดวงดี และนายมานะ เป็นพยานเบิกความได้ความว่า ขณะไปเที่ยวงานที่วัดเขาสะพายแร้ง นายมานะได้พูดคุยกับหญิงคนหนึ่ง กลุ่มของจำเลยไม่พอใจและมีเรื่องกัน แต่ผู้เสียหายที่ 2 ตกลงกับกลุ่มของจำเลยได้แล้วพากันไปยังร้านอาหารที่เกิดเหตุ ในระหว่างนั้นมีรถจักรยานยนต์ผ่านหน้าร้านไป 2 คัน คันแรกจำเลยเป็นคนขับ จากนั้นรถจักรยานยนต์ทั้งสองคันวกกลับมา จำเลยใช้อาวุธปืนยิงเข้ามาในร้าน กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของร้านโดยผู้เสียหายที่ 2 นายดวงดี และนายมานะเห็นจำเลยจากแสงไฟหน้าร้าน และแสงไฟจากรถจักรยานยนต์ที่ตามหลังมา เห็นว่า แม้ในขณะนั้นรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับอยู่จะไม่ได้เปิดไฟหน้า แต่เมื่อพิจารณาแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งจำเลยเป็นผู้นำชี้ ปรากฏว่าจุดที่นายมานะยืนอยู่หน้าร้านอาหารที่เกิดเหตุห่างจากจุดที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงประมาณ 10 เมตร ประกอบกับผู้เสียหายที่ 2 นายดวงดี และนายมานะได้พบกับจำเลยในเวลาใกล้เคียงกันมาแล้ว เชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสามเห็นและจำจำเลยได้ ทั้งยังได้ความจากพันตำรวจโทสุวัฒน์พนักงานสอบสวนว่าหลังจากได้รับแจ้งเหตุแล้วเดินทางไปยังร้านอาหารที่เกิดเหตุพบผู้เสียหายที่ 2 และนายมานะต่างยืนยันว่าจำเลยเป็นคนใช้อาวุธปืนยิง อันนำไปสู่การจับกุมจำเลยได้ในเวลาต่อมา ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน จำเลยได้รับแจ้งข้อหาคดีนี้แล้วให้การรับสารภาพและชี้นำที่เกิดเหตุ โดยมีรายละเอียดของเหตุการณ์ตั้งแต่จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่หน้าร้านอาหารที่เกิดเหตุและใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้เสียหายที่ 2 ที่อยู่บริเวณหน้าร้านก่อนขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปกับพวกนำอาวุธปืนไปซุกซ่อน และนำรถจักรยานยนต์ที่ใช้กระทำความผิดไปจอดไว้ ปรากฏตามบันทึกและรูปถ่ายการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพรูปที่ 6 ถึงที่ 10 พยานหลักฐานของโจทก์สอดคล้องเชื่อมโยงกันมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยมีและพาอาวุธปืนของกลาง ซึ่งไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไปในบริเวณที่เกิดเหตุอันเป็นหมู่บ้านโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายแล้วใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้เสียหายที่ 2 กับพวก กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ปรากฏบาดแผลตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ จากลักษณะบาดแผลของผู้เสียหายที่ 2 ที่ถูกยิงบริเวณหัวไหล่ บ่งชี้ว่าเป็นการยิงไปยังส่วนบนของร่างกายซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกอวัยวะสำคัญของผู้เสียหายที่ 2 ถึงแก่ความตายได้ อันถือเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่า เมื่อการกระทำไม่บรรลุผล จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 และกระสุนปืนยังพลาดไปถูกผู้เสียหายที่ 3 ที่บริเวณไหปลาร้า ต้องถือว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 3 เช่นเดียวกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 60 แต่การกระทำไม่บรรลุผล จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 3 ด้วย ที่จำเลยฎีกาโดยยกเอาคำเบิกความของพยานโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายที่ 1 กับพวกมาเป็นข้อตำหนิคำเบิกความของพยานโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายที่ 2 กับพวกนั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายที่ 2 กับพวกนั้น เหตุเกิดที่บริเวณหน้าร้านอาหารที่เกิดเหตุซึ่งมีแสงไฟต่างกับการกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหายที่ 1 กับพวกซึ่งเกิดเหตุที่บริเวณถนนเลียบคลองชลประทานไม่มีแสงไฟในบริเวณดังกล่าว สภาพของการมองเห็นย่อมต่างกัน ส่วนที่ผู้เสียหายที่ 3 เบิกความว่า แสงไฟในร้านอาหารที่เกิดเหตุส่องไปไม่ถึงถนน ที่ถนนก็ไม่มีไฟฟ้าสาธารณะ ในทำนองว่าแสงไฟในบริเวณที่เกิดเหตุมองเห็นเหตุการณ์ไม่ชัดเจนนั้นขัดกับคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 3 ตามบันทึกคำให้การของพยานว่าบริเวณที่เกิดเหตุนอกจากแสงไฟในร้านอาหารที่เกิดเหตุแล้วยังมีแสงจันทร์และแสงไฟจากหน้ารถจักรยานยนต์ของคนร้าย หากยืนอยู่หน้าร้านและพยายามสังเกตก็สามารถมองเห็นได้ชัดเจนพอสมควร ฎีกาของจำเลยที่ว่าคำรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อยนั้น เห็นว่า โจทก์มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบดังที่วินิจฉัยมาแล้ว และข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนกับนำชี้ที่เกิดเหตุและนำยึดอาวุธปืนของกลางเป็นเพราะเจ้าพนักงานตำรวจผู้จักกุมและพนักงานสอบสวนพูดจูงใจนั้นเป็นเพียงข้ออ้างของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว โดยจำเลยไม่ได้ถามพยานโจทก์ดังกล่าวเพื่อให้มีโอกาสอธิบายซึ่งไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง ฎีกาของจำเลยในข้ออื่นไม่มีผลทำให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้ปรับบทลงโทษให้ชัดเจนในการกระทำความผิดของจำเลยต่อผู้เสียหายที่ 3 ที่เป็นการกระทำโดยพลาดอันเป็นความผิดอีกบทหนึ่งมาด้วยนั้น เห็นว่า ไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 3 นั้น จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 60 อีกบทหนึ่ง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษจำเลยแต่เพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7.

Share