แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ ยกทรัพย์ทั้งหมดให้แก่นาง ต. ผู้เป็นมารดาเพียงผู้เดียว แต่นาง ต. มารดาผู้รับพินัยกรรมได้ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นาง ต. มารดาย่อมตกไปตามมาตรา 1698 (1) ทรัพย์สินในส่วนที่เป็นมรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1699 ประกอบมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง แม้พินัยกรรมดังกล่าวมีข้อกำหนดให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก แต่ความปรากฏในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาว่าผู้คัดค้านที่ 2 ถึงแก่ความตายและการจัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัว จึงไม่อาจตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องได้
เมื่อผู้ร้องกับผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามมาตรา 1457 ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 วรรคสอง แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคคลทั้งสองอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาตั้งแต่ปี 2523 จนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตาย ตลอดเวลาทำมาหาได้ร่วมกัน ดังนั้นทรัพย์สินที่ร่วมกันทำมาหาได้ ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของรวม เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายทรัพย์สินที่บุคคลทั้งสองร่วมกันทำมาหาได้ย่อมต้องแบ่งเป็นของผู้ร้องส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนเด็กหญิง ญ. แม้จะมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก็ตาม แต่ปรากฏตามสำเนาสูติบัตรว่าผู้ตายแจ้งว่าผู้ตายเป็นบิดาของเด็กหญิง ญ. ทั้งได้นำเด็กหญิง ญ. มาเลี้ยงดูอุปการะ ส่งเสียให้เล่าเรียนและให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงได้ว่าผู้ตายได้รับรองเด็กหญิง ญ. เป็นบุตร ดังนั้นเด็กหญิง ญ. จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายซึ่งผู้ตายรับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 และเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ฉะนั้นผู้ร้องในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ญ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713
สำหรับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรที่ผู้ตายได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1547 มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกนางอรวรรณ ว่า ผู้ร้อง เรียกนายธนา ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และเรียกนายเอกชัย ว่า ผู้คัดค้านที่ 2
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องกับยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้าน ขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 หรือให้ผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมของผู้ตาย
ศาลประกาศนัดไต่สวนแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องและคำคัดค้าน ขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และยกคำร้องของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องและคัดค้านกับขอแก้ไขคำคัดค้าน ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ยกคำร้องของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2
ระหว่างพิจารณาผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำแถลงร่วมกัน ว่าขอถอนคำคัดค้านซึ่งกันและกันและขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้นางอรวรรณ ผู้ร้องและนายธนา ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำร้องของผู้ร้องในส่วนขอจัดการมรดกในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงญานี และยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามสำนวนให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งนางอรวรรณ ผู้ร้อง และนายเอกชัย ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันโดยมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายและให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ทั้งสามสำนวนให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกานายเอกชัย ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงแก่ความตายนางวชิราภรณ์ และนายธวัชชัย ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ ศาลฎีกามีคำสั่งว่า คดีร้องขอจัดการมรดกเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้คัดค้านที่ 2 ให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่านายบุญย์ ผู้ตาย ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2538 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2526 ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นางเต๋า มารดาของผู้ตาย โดยตั้งให้นายเอกชัย ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก แต่ปรากฏว่านางเต๋าถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย ข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงตกไป ผู้ตายไม่มีภรรยาหรือบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ได้จดทะเบียนรับรองนายธนา ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตร และได้แจ้งในทะเบียนสูติบัตรว่าเด็กหญิงญานี เป็นบุตรของผู้ตายกับผู้ร้อง ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องและฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 มีว่า ฝ่ายใดสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เห็นว่า ถึงแม้ผู้ร้องกับผู้ตายจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันแต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคคลทั้งสองอยู่ร่วมฉันสามีภรรยากันมาตั้งแต่ปี 2523 จนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตาย ตลอดเวลาได้ทำมาหากินร่วมกัน ดังนั้นทรัพย์สินที่ร่วมกันทำมาหาได้ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินที่บุคคลทั้งสองร่วมกันทำมาหาได้ย่อมต้องแบ่งเป็นของผู้ร้องส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนเด็กหญิงญานีแม้จะมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก็ตามแต่ปรากฏตามสำเนาสูติบัตรว่าผู้ตายแจ้งว่าผู้ตายเป็นบิดาของเด็กหญิงญานี ทั้งได้นำเด็กหญิงญานีมาเลี้ยงดูอุปการะ ส่งเสียให้เล่าเรียนและให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้ตายได้รับรองว่าเด็กหญิงญานีเป็นบุตร ดังนั้นเด็กหญิงญานีจึงเป็นบุตรนอกกฎหมายซึ่งผู้ตายรับรองถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 และเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ฉะนั้นผู้ร้องในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงญานีจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ที่ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องของผู้ร้องในส่วนขอจัดการมรดกในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงญานีมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713
สำหรับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรที่ผู้ตายได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ตั้งนายเอกชัย ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องและให้จำหน่ายคดีสำหรับผู้คัดค้านที่ 2 อกจากสารบบความของศาลฎีกา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ