คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 739/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามข้อหาที่เจ้าพนักงานผู้จับกุมแจ้งว่ามีและใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้าโดยใต้แท่นเครื่องชั่งของกลางไม่มีแผ่นเหล็กบังคับห่วงคู่ด้านหน้าก็ตาม แต่ผู้จับกุมดังกล่าวไม่มีความชำนาญเกี่ยวกับเครื่องชั่งไม่ทราบว่าเครื่องชั่งของกลางจะมีการดัดแปลงหรือไม่ ทั้ง อ. เจ้าพนักงานชั่ง ตวง วัด ซึ่งเป็นผู้พิสูจน์เครื่องชั่งดังกล่าวก็มิได้ยืนยันว่า การที่ขาดแผ่นเหล็กบังคับห่วงคู่ด้านหน้าจะมีผลทำให้เครื่องชั่งผิดอัตราไป แม้จะปรากฏว่าขอห้อยรองรับตุ้มถ่วงปลายคันชั่งชำรุดอันอาจทำให้ผู้ใช้เครื่องชั่งสามารถเพิ่มหรือลดน้ำหนักที่ขอห้อยได้ตามความต้องการ และมีการพิสูจน์น้ำหนักโดยเทียบกับมาตราตุ้มน้ำหนักมาตรฐาน โดยสอบน้ำหนักขั้นต่าง ๆ แล้วพบว่ามีน้ำหนักเกินมาตรฐานอยู่บ้าง แต่ อ. ก็เบิกความตอบคำถามค้านว่าเครื่องชั่งของกลางได้ผ่านการตรวจสอบให้คำรับรองมาแล้วทั้งขณะที่ตรวจเครื่องชั่งยังไม่มีการเพิ่มหรือลดเครื่องชั่ง เพียงแต่อยู่ในลักษณะที่สามารถเพิ่มหรือลดเครื่องชั่งตามความต้องการของผู้ใช้ กรณีจึงขัดแย้งกับการพิสูจน์น้ำหนักเครื่องชั่งของกลางที่ว่า น้ำหนักเกินมาตรฐานดังกล่าว ส่วนการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าเครื่องชั่งของกลางถูกดัดแปลงแก้ไขนอตยึดแกนล้อถูกเชื่อมพอกให้หนาขึ้นเพื่อเวลาใช้เครื่องชั่งจะทำให้แกนล้อเลื่อนไปมาได้ และทำให้ส่วนที่เชื่อมพอกบนแกนล้อไปหนุนคานรับน้ำหนักใต้แท่นชั่งเมื่อทำการชั่งจะทำให้น้ำหนักที่ชั่งได้ไม่ตรงตามมาตรฐานที่ทางราชการเคยรับรองไว้โดยจะชั่งน้ำหนักได้น้อยกว่าความจริงนั้น ในชั้นพิจารณาโจทก์ก็ไม่มีพยานปากใดเบิกความถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ฉะนั้น การที่เครื่องชั่งของกลางมีขอห้อยรองรับตุ้มถ่วงปลายคันชั่งชำรุด แม้จะทำให้เครื่องชั่งอยู่ในลักษณะที่จะเพิ่มหรือลดเครื่องชั่งได้ตามความต้องการของผู้ใช้ ก็จะสันนิษฐานให้เป็นผลร้ายว่า จำเลยที่ 1ใช้เครื่องชั่งให้ผิดอัตราไปในทางเพิ่มหรือลดเครื่องชั่งไม่ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าเครื่องชั่งของกลางเป็นเครื่องชั่งที่ผิดอัตรา
เมื่อฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัดฯ จึงไม่อาจยึดเครื่องชั่ง ตุ้มน้ำหนักและคานแขวนลูกตุ้มของกลางตามมาตรา 38 ได้ทั้งของกลางดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดและมิใช่ทรัพย์สินซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่อาจริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32,33

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 21 มกราคม 2541 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1 กระทำโดยเจตนาลดเครื่องชั่งชนิดที่ 4 แบบตุ้มถ่วง พิกัดกำลัง 500 กิโลกรัมโดยขอห้อยรองรับตุ้มถ่วงปลายคันชั่งชำรุด ถูกดัดแปลงแก้ไขนอตยึดแกนล้อถูกเชื่อมพอกให้หนาขึ้น เพื่อเวลาใช้เครื่องชั่งจะทำให้แกนล้อเลื่อนไปมาได้และทำให้ส่วนที่เชื่อมพอกบนแกนล้อไปหนุนคานรับน้ำหนักใต้แท่นชั่ง เมื่อทำการชั่งจะทำให้น้ำหนักที่ชั่งได้ไม่ตรงตามมาตรฐานที่ทางราชการเคยรับรองโดยจะชั่งน้ำหนักได้น้อยกว่าความเป็นจริง ภายหลังจากจำเลยที่ 1 กระทำความผิดดังกล่าวจนถึงวันที่ 21 มกราคม 2541 เวลากลางวันต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยที่ 1 มีเครื่องชั่งดังกล่าวไว้ในครอบครองซึ่งเป็นเครื่องชั่งที่ผิดอัตราไม่ถูกต้องตามความประสงค์ทุกประการของพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 เมื่อใช้ชั่งน้ำหนัก น้ำหนักจะเกินมาตรฐานทำให้จำเลยที่ 1 ได้เปรียบในทางการค้าเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อ โดยจำเลยที่ 1 มีเครื่องชั่งดังกล่าวไว้เพื่อใช้ในกิจการต่อเนื่องกับผู้อื่น ในพาณิชยกิจของจำเลยที่ 1 และมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า และเมื่อระหว่างวันเวลาดังกล่าว จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เครื่องชั่งดังกล่าว ทำการชั่งข้าวเปลือกที่รับซื้อจากลูกค้า ซึ่งอยู่ในกิจการค้าอันต่อเนื่องกับผู้อื่นและในพาณิชยกิจของจำเลยทั้งสาม เพื่อเอาเปรียบในการค้าทำให้น้ำหนักข้าวเปลือกของลูกค้าที่นำมาขายให้แก่จำเลยทั้งสามขาดหายไปไม่ตรงกับน้ำหนักที่แท้จริงที่นำมาขาย ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าเครื่องชั่งดังกล่าวเป็นเครื่องชั่งที่ได้ดัดแปลงแก้ไขลดเครื่องชั่ง และเป็นเครื่องชั่งที่ผิดอัตราเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามได้พร้อมยึดได้เครื่องชั่งที่จำเลยทั้งสามมีและใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าว ตุ้มน้ำหนัก 3 ลูก และคานแขวนลูกตุ้ม 1 อัน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบเครื่องชั่งเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466มาตรา 31, 32, 33, 38 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91,270 ริบของกลาง และจ่ายสินบนนำจับแก่พนักงานผู้จับตามกฎหมาย

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 31, 32 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 270 ฐานมีและใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตรา เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 32 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก 2 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ริบของกลางคำขออื่นให้ยก และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ จับกุมจำเลยที่ 1 กับพวก พร้อมยึดเครื่องชั่งชนิดที่ 4 แบบตุ้มถ่วงพิกัดกำลัง 500 กิโลกรัม หมายเลขประจำเครื่องเอส.โอ.บี 0462-39 ซึ่งเป็นเครื่องชั่งที่เคยผ่านการตรวจสอบให้คำรับรองมาแล้ว กับตุ้มน้ำหนัก 3 ลูก และคานแขวนลูกตุ้ม 1 อัน เป็นของกลางสำหรับความผิดฐานเจตนาลดเครื่องชั่งของกลางที่ได้ทำการให้คำรับรองแล้ว เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่าจำเลยทั้งสาม (ที่ถูกเป็นจำเลยที่ 1) แก้ไขเครื่องชั่งของกลาง โดยทำให้ขอห้อยรองรับตุ้มถ่วงชำรุดปลายคันชั่งชำรุดแล้วดัดแปลงแก้ไขนอตยึดแกนล้อโดยพอกเชื่อมให้หนาขึ้น และโจทก์มิได้อุทธรณ์ คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานมีเครื่องชั่งที่ผิดอัตราไม่ถูกต้องตามความประสงค์ทุกประการของพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัดพ.ศ. 2466 ไว้เพื่อใช้ในกิจการต่อเนื่องกับผู้อื่นหรือในพาณิชยกิจใด ๆ ฐานมีไว้เพื่อใช้ชั่งเครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า ฐานใช้เครื่องชั่งโดยรู้อยู่ว่าเป็นเครื่องชั่งที่เจตนาลดเครื่องชั่งที่ได้ทำการให้คำรับรองแล้ว และฐานใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้าตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ที่จะเป็นความผิดแต่ละฐานความผิดดังกล่าวจะต้องได้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดว่า เครื่องชั่งของกลางเป็นเครื่องชั่งที่ผิดอัตรา จึงต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าเครื่องชั่งของกลางเป็นเครื่องชั่งที่ผิดอัตราหรือไม่ ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 ปรากฏว่า ร้อยตำรวจโทวสิษฐ์ จรลำโกน จ่าสิบตำรวจอรรถพล พันธ์เพชร และจ่าสิบตำรวจสุนัน คำด้วง พยานโจทก์จับกุมจำเลยที่ 1 กับพวกที่บ้านกระสังข์ ตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นพ่อค้าเร่ที่รับซื้อข้าวเปลือกโดยใช้เครื่องชั่งผิดอัตราที่บ้านนาทุ่ง ตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน ตามที่ผู้จับกุมทั้งสามปากได้รับแจ้งทางวิทยุสื่อสารจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอห้วยทับทัน ผู้จับกุมทั้งสามปากเบิกความว่า ได้ตรวจเครื่องชั่งของกลางโดยเปิดแท่นชั่งออกดู ปรากฏว่าที่ใต้แท่นชั่งไม่มีแผ่นเหล็กบังคับห่วงคู่ด้านหน้า จึงจับกุมจำเลยที่ 1 โดยแจ้งข้อหาว่ามีและใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า ที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุม เอกสารหมาย จ.1เป็นการรับสารภาพตามข้อกล่าวหาที่ว่าเครื่องชั่งของกลางไม่มีแผ่นเหล็กบังคับห่วงคู่ด้านหน้า แต่ผู้จับกุมทั้งสามปากเบิกความตอบคำถามค้านว่าไม่มีความชำนาญเกี่ยวกับเครื่องชั่ง จ่าสิบตำรวจอรรถพล และจ่าสิบตำรวจสุนันเบิกความตอบคำถามค้านว่า ไม่ทราบว่าเครื่องชั่งของกลางจะมีการดัดแปลงหรือไม่ และจ่าสิบตำรวจอรรถพลเบิกความตอบคำถามค้านว่าไม่ทราบว่าการที่เครื่องชั่งของกลางขาดอุปกรณ์แผ่นเหล็กบังคับห่วงคู่ด้านหน้าจะทำให้ชั่งแล้วมีน้ำหนักเบาหรือหนักกว่าเดิม เมื่อพนักงานสอบสวนส่งเครื่องชั่งของกลางไปยังสำนักงานทะเบียนการค้าจังหวัดศรีสะเกษเพื่อให้ผู้ชำนาญทำการพิสูจน์ นายอนันต์ สันทัดการ หัวหน้าสำนักงานทะเบียนการค้าจังหวัดศรีสะเกษ ในฐานะเจ้าพนักงานชั่งตวง วัด ผู้พิสูจน์เครื่องชั่งของกลางพยานโจทก์ก็มิได้ยืนยันว่า การที่เครื่องชั่งของกลางไม่มีแผ่นเหล็กบังคับห่วงคู่ด้านหน้าที่ใต้แท่นชั่งจะมีผลทำให้เครื่องชั่งของกลางผิดอัตราไป คงได้ความจากนายอนันต์เบิกความประกอบรายงานพิสูจน์ของกลางเอกสารหมาย จ.3 ว่าการตรวจสภาพทั่วไปเครื่องชั่งของกลางปรากฏว่า ขอห้อยรองรับตุ้มถ่วงปลายคันชั่งชำรุด ทำให้ผู้ใช้เครื่องชั่งสามารถเพิ่มหรือลดน้ำหนักที่ขอห้อยได้ตามความต้องการ และการพิสูจน์น้ำหนักโดยเทียบกับแบบมาตราตุ้มน้ำหนักมาตรฐาน โดยสอบน้ำหนักขั้น50, 100, 150, 200, 250, 300 และ 350 กิโลกรัม น้ำหนักเกินมาตรฐาน 1, 2, 3, 4, 5, 6 และ 7 กิโลกรัมตามลำดับ แต่นายอนันต์กลับเบิกความตอบคำถามค้านว่าเครื่องชั่งของกลางผ่านการตรวจสอบให้คำรับรองมาแล้ว ขณะที่ตรวจเครื่องชั่งของกลางยังไม่มีการเพิ่มหรือลดเครื่องชั่งเพียงแต่อยู่ในลักษณะที่สามารถจะเพิ่มหรือลดเครื่องชั่งตามความต้องการของผู้ใช้จึงขัดแย้งกับการพิสูจน์น้ำหนักเครื่องชั่งของกลางที่ว่าน้ำหนักเกินมาตรฐานดังกล่าว นอกจากนี้ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า เครื่องชั่งของกลางถูกดัดแปลงแก้ไขนอตยึดแกนล้อถูกเชื่อมพอกให้หนาขึ้น เพื่อเวลาใช้เครื่องชั่งจะทำให้แกนล้อเลื่อนไปมาได้ และทำให้ส่วนที่เชื่อมพอกบนแกนล้อไปหนุนคานรับน้ำหนักใต้แท่นชั่ง เมื่อทำการชั่งจะทำให้น้ำหนักที่ชั่งได้ไม่ตรงตามมาตรฐานที่ทางราชการเคยรับรองไว้ โดยจะชั่งน้ำหนักได้น้อยกว่าความจริงนั้นในชั้นพิจารณาโจทก์ไม่มีพยานปากใดเบิกความถึงข้อเท็จจริงว่ามีการดัดแปลงแก้ไขเครื่องชั่งของกลางให้ผิดอัตราด้วยวิธีดังกล่าวการที่เครื่องชั่งของกลางมีขอห้อยรองรับตุ้มถ่วงปลายคันชั่งชำรุดแม้จะทำให้เครื่องชั่งของกลางอยู่ในลักษณะที่จะเพิ่มหรือลดเครื่องชั่งได้ตามความต้องการของผู้ใช้ ก็จะสันนิษฐานให้เป็นผลร้ายว่า จำเลยที่ 1ใช้เครื่องชั่งของกลางให้ผิดอัตราไปในทางเพิ่มหรือลดเครื่องชั่งไม่ได้เพราะนายอนันต์ได้เบิกความตอบคำถามค้านด้วยว่า ตุ้มน้ำหนัก 3 ลูกของกลางที่จำเลยที่ 1 ใช้กับเครื่องชั่งของกลางมีน้ำหนักเท่ากับตุ้มน้ำหนักมาตรฐาน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าเครื่องชั่งของกลางเป็นเครื่องชั่งที่ผิดอัตรา คดีจึงลงโทษจำเลยที่ 1ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง เมื่อคดีฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 จึงไม่อาจยึดเครื่องชั่ง ตุ้มน้ำหนัก และคานแขวนลูกตุ้มของกลางตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 38 ทั้งของกลางดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด และไม่ใช่ทรัพย์สินซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่อาจริบของกลางดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และมาตรา 33 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงพิพากษาให้ริบของกลางเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share