แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นลูกจ้างชั่วคราวได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการในกรมคุมประพฤติ เป็นพนักงานคุมประพฤติตามคำสั่งกระทรวงยุติธรรมจำเลยเป็นพนักงานคุมประพฤติประจำศาลและได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสำนักงานคุมประพฤติประจำศาลให้ไปสืบเสาะความประพฤติของ ว. เมื่อตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มาตรา 4บัญญัติว่า “พนักงานคุมประพฤติ” หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 5 บัญญัติให้รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนพนักงานคุมประพฤติตามพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 10 บัญญัติว่าในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้พนักงานคุมประพฤติเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และไม่มีบทบัญญัติบทใดบัญญัติให้การแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังนั้น คำสั่งแต่งตั้งจำเลยให้เป็นพนักงานคุมประพฤติจึงไม่จำต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา แม้จำเลยไม่ได้ลงชื่อรับทราบคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว แต่จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อมา ถือได้ว่าจำเลยทราบคำสั่งแล้ว จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวปฏิบัติราชการอยู่ในกรมคุมประพฤติและได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้เป็นพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มีหน้าที่สืบเสาะและพินิจประวัติความประพฤติของจำเลยในคดีอาญา เพื่อรายงานศาลประกอบดุลพินิจในการลงโทษ จำเลยได้รับคำสั่งจากหัวหน้าสำนักงานคุมประพฤติประจำศาลอาญากรุงเทพใต้ให้สืบเสาะความประพฤติของนายวรชาติ จิตต์พายัพ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาเรื่องมียาเสพติดให้โทษ (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้จำเลยได้ข่มขืนใจนางสาวนันทิรา บุญรัตน์ ผู้เสียหายซึ่งเป็นภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสของนายวรชาติโดยขู่เข็ญว่าหากผู้เสียหายไม่นำเงิน 10,000 บาท มาให้จำเลย จำเลยจะทำรายงานต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ว่า นายวรชาติเป็นผู้มีความประพฤติไม่ดีและจะต้องถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงของนายวรชาติ และผู้เสียหายจนผู้เสียหายยอมจ่ายเงินให้จำเลยตามที่ถูกข่มขืนใจและได้จ่ายเงิน1,000 บาท ให้จำเลย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 337 กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 1,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157 และ 337 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 148 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลย 5 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 1,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 337 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นลูกจ้างชั่วคราวได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการในกรมคุมประพฤติเป็นพนักงานคุมประพฤติตามคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 163/2537 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2537 จำเลยเป็นพนักงานคุมประพฤติประจำศาลอาญากรุงเทพใต้ และได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสำนักงานคุมประพฤติประจำศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ไปสืบเสาะความประพฤติของนายวรชาติ
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจำเลยยังไม่ได้ลงชื่อรับทราบคำสั่งนั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522มาตรา 4 บัญญัติว่า “พนักงานคุมประพฤติ” หมายความว่าผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 5บัญญัติว่า “ให้รัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนพนักงานคุมประพฤติตามพระราชบัญญัตินี้”และมาตรา 10 บัญญัติว่า “ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานคุมประพฤติเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา”ไม่มีบทบัญญัติบทใดบัญญัติให้การแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น คำสั่งแต่งตั้งจำเลยให้เป็นพนักงานคุมประพฤติจึงไม่จำต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาแม้จำเลยไม่ได้ลงชื่อรับทราบคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าว แต่จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อมา ถือได้ว่าจำเลยทราบคำสั่งแล้วจำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
พิพากษายืน