คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7477/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยเป็นเพียงครูอัตราจ้าง แต่ก็มีฐานะเป็นครูมีหน้าที่อบรมและสอนนักเรียน จำเลยสอนวิชาการงานอาชีพนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 และสอนโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นอกจากนี้จำเลยยังเป็นครูซึ่งมีหน้าที่ฝึกสอนและดูแลโจทก์ร่วมที่ 1 และนักเรียนที่ไปแข่งขันประดิษฐ์โคมไฟอีกด้วย จำเลยจึงมีหน้าที่อบรมสั่งสอนว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ร่วมที่ 1 และนักเรียนทุกคนที่จำเลยสอนให้อยู่ในระเบียบของทางราชการ โจทก์ร่วมที่ 1 จึงเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 285

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 279, 283 ทวิ, 285, 285/1, 317, 321/1
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาผู้เสียหายที่ 1 โดยนาง ส. ผู้แทนเฉพาะคดี และผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกผู้เสียหายที่ 1 ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 เรียกผู้เสียหายที่ 2 ว่า โจทก์ร่วมที่ 2 และโจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองคนละ 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำละเมิดไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิด จึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 279 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 285, 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม), 317 วรรคสาม (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี เป็นจำคุก 10 ปี ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 7 ปี เป็นจำคุก 21 ปี ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล จำคุก 1 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 32 ปี 4 เดือน กับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ร่วมที่ 1 ขณะเกิดเหตุอายุ 11 ปีเศษ อยู่ในความดูแลของนาง ส. โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นยาย และเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนจำเลยเป็นครูอัตราจ้าง สอนวิชาศิลปะ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2559 โจทก์ร่วมที่ 2 แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาพรากผู้เยาว์และกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 เหตุเกิดระหว่างเดือนกันยายน 2559 ถึงตุลาคม 2559 ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ
สำหรับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 5 ปี และความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คดีทั้งสองฐานนี้จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก จำเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิด จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยสำหรับปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะเป็นเพียงครูอัตราจ้าง แต่จำเลยก็มีฐานะเป็นครูมีหน้าที่อบรมและสอนนักเรียน ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยรับผิดชอบสอนวิชาการงานอาชีพนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 และสอนโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ด้วย นอกจากนี้จำเลยยังเป็นครูซึ่งมีหน้าที่ฝึกสอนและดูแลโจทก์ร่วมที่ 1 และนักเรียนที่ไปแข่งขันประดิษฐ์โคมไฟอีกด้วย ดังนั้นจำเลยจึงมีหน้าที่อบรมสั่งสอนว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ร่วมที่ 1 และนักเรียนทุกคนที่จำเลยสอนให้อยู่ในระเบียบของทางราชการ ฐานะของโจทก์ร่วมที่ 1 จึงเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 จำเลยย่อมมีความผิดฐานการกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน และมาตรา 3 ให้เพิ่มความในมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเป็น “(18) “กระทำชำเรา” หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น” กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานกระทำชำเราว่า ต้องเป็นการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้ถูกกระทำจึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิดอันเป็นการปรับปรุงนิยามคำว่า “กระทำชำเรา” ให้ชัดเจนและสอดคล้องกับลักษณะการกระทำชำเราทางธรรมชาติ และมาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 279 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน โดยวรรคสี่บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของเด็กนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษ…” ดังนั้นเมื่อคดีได้ความว่า การกระทำของจำเลยที่ใช้ปากของจำเลยอมอวัยวะเพศของโจทก์ร่วมที่ 1 และใช้ทวารหนักของจำเลยให้โจทก์ร่วมที่ 1 สอดใส่อวัยวะเพศของโจทก์ร่วมที่ 1 เข้าไป โดยไม่ได้ใช้อวัยวะเพศของจำเลยล่วงล้ำทวารหนัก หรือช่องปากของโจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่เป็นการกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม อีกต่อไป แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศโดยใช้อวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงเกินโจทก์ร่วมที่ 1 อันเป็นการล่วงล้ำอวัยวะเพศของโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยการล่วงล้ำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสี่และวรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) อย่างไรก็ดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิตเท่ากันกับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ระวางโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) โดยให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) นอกจากที่แก้และโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share