คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6652/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.รัษฎากร มาตรา 57 ตรี วรรคแรก เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่สามีและภริยาต่างมีเงินได้โดยให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของภริยาเป็นเงินได้ของสามี และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษี แต่หากภริยาเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมิน ส่วนสามีไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ก็ไม่อยู่ในบังคับให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของภริยาเป็นเงินได้ของสามีที่สามีจะต้องรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีตามมาตรา 57 ตรี วรรคแรก แต่อย่างใด เมื่อสามีของโจทก์ไม่มีเงินได้พึงประเมินและไม่เคยยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีประกอบกับไม่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี จึงไม่อาจนำบทบัญญัติในมาตรา 57 ตรี มาใช้บังคับได้ กรณีจึงต้องเป็นไปตาม ป.รัษฎากร มาตรา 56 วรรคแรก ที่กำหนดให้บุคคลทุกคนมีหน้าที่ในการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับเกิน 60,000 บาท ในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นเงินประมาณ 4 ล้านบาทเศษ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องยื่นรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นรายการและชำระภาษี เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินให้โจทก์ชำระภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลขที่ ๑๙๓๒/๑/๑๐๒๘๕๕ เลขที่ ๑๙๓๒/๑/๑๐๒๘๕๖ และหนังสือแจ้งภาษีการค้าเลขที่ ๑๙๓๒/๔/๑๐๐๒๐๔ กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ นบ/๐๐๓๗/๒๕๔๐ เลขที่ นบ/๐๐๓๘/๒๕๔๐ และเลขที่ นบ/๐๐๓๙/๒๕๔๐
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลขที่ ๑๙๓๒/๑/๑๐๒๘๕๕ และเลขที่ ๑๙๓๒/๑/๑๐๒๘๕๖ กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ นบ/๐๐๓๗/๒๕๔๐ และเลขที่ นบ/๐๐๓๘/๒๕๔๐ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ ๑ โดยกำหนดค่าทนายความ ๒,๐๐๐ บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ป.รัษฎากร มาตรา ๕๗ ตรี วรรคแรก บัญญัติว่า “ในการเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยานั้น ถ้าสามีและภริยาอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษีที่ล่วงมาแล้วให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของภริยาเป็นเงินได้ของสามี และสามีมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษี แต่ถ้าภาษีค้างชำระและภริยาได้รับแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วันแล้ว ให้ภริยาร่วมรับผิดในการเสียภาษีที่ค้างชำระนั้นด้วย” นั้น เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่สามีและภริยาต่างมีเงินได้ซึ่งกฎหมายให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของภริยาเป็นเงินได้ของสามี โดยให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษี ฉะนั้นหากภริยาเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมิน ส่วนสามีไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ก็มิใช่กรณีการเรียกเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยาที่กฎหมายบังคับให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของภริยาเป็นเงินได้ของสามีซึ่งสามีมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีตามมาตรา ๕๗ ตรี วรรคแรก แต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่า สามีของโจทก์มีเงินได้พึงประเมิน และสามีโจทก์ไม่เคยยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี ประกอบกับสามีโจทก์ไม่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติในมาตรา ๕๗ ตรี มาใช้บังคับได้ กรณีจึงต้องเป็นไปตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๕๖ วรรคแรก บัญญัติว่า “ให้บุคคลทุกคน…ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน ๖๐,๐๐๐ บาท” เมื่อคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมิน ประจำปีภาษี ๒๕๓๓ (๑ มกราคม – ๓๐ มิถุนายน) จากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท และมีเงินได้พึงประเมินประจำปี ๒๕๓๓ (๑ มกราคม – ๓๑ ธันวาคม) จากการขายอสังหาริมทรัพย์ รวมเป็นเงิน ๓,๔๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องยื่นรายการและชำระภาษี เมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นรายการและชำระภาษี เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินให้โจทก์ชำระภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ ดังนั้น การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลขที่ ๑๙๓๒/๑/๑๐๒๘๕๕ และเลขที่ ๑๙๓๒/๑/๑๐๒๘๕๖ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ นบ/๐๐๓๗/๒๕๔๐ และเลขที่ นบ/๐๐๓๘/๒๕๔๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสี่

Share