แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การขอคืนของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36 ซึ่งเจ้าของมีสิทธิขอคืนต่อศาลได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น คำว่า “วันคำพิพากษาถึงที่สุด” ย่อมหมายความถึงคำพิพากษาในคดีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์
คดีก่อนกับคดีนี้เป็นกรณีเดียวกัน แต่ฟ้องคนละคราวกัน ทรัพย์สินที่ยึดได้ก็เป็นทรัพย์สินรายเดียวกัน ทรัพย์สินต่าง ๆ รวมทั้งธนบัตรของกลางจึงเป็นของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบธนบัตรของกลางในคดีนี้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบธนบัตรของกลาง ก็ไม่อยู่ในอำนาจของศาลในคดีนี้ที่จะสั่งให้ริบธนบัตรของกลางซ้ำอีก ธนบัตรของกลางจึงมิใช่ของกลางในคดีนี้ที่ศาลจะพึงวินิจฉัยสั่งด้วย เมื่อคดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาและมีคำสั่งให้ริบธนบัตรของกลางแล้ว จำเลยในคดีดังกล่าวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอคืนธนบัตรของกลางในคดีนี้เกิน 1 ปี จึงต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 36
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแต่ให้ริบธนบัตรฉบับละ 100 ดอลล่าร์สหรัฐรวม 230 ฉบับ ของกลาง ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของธนบัตรฉบับละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ 230 ฉบับ ของกลาง และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ขอให้สั่งคืนธนบัตรของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ธนบัตรของกลาง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้คืนธนบัตรของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2541 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองกับนายอิดริสซ่า แซสซี่ และนายบาบัททูเน โอลาโบเด ฟาชิน่า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 266, 268 และ 341 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 11, 12, 18, 62 และ 91 กับให้ริบบัตรเบิกถอนเงินสดอัตโนมัติ 3 ใบ หนังสือเดินทางของประเทศสาธารณรัฐเซียร่าเลโอน หนังสือเดินทางของประเทศสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ ธนบัตรดอลล่าร์สหรัฐ ฉบับละ 100 ดอลล่าร์ รวม 230 ฉบับ เช็คของธนาคารบอสตันและเช็คของธนาคารเมลลอน แบงค์ เอ็น เอ จำกัด ของกลาง นายบาบัททูเน โอลาโบเด ฟาชิน่า ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยอื่นให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ให้การปฏิเสธเป็นคดีใหม่ และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนายบาบัททูเน โอลาโบเด ฟาชิน่า ตามฟ้องกับริบหนังสือเดินทางของประเทศสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือของกลาง ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6667/2541 คดีหมายเลขแดงที่ 7607/2541 ของศาลชั้นต้น นายบาบัททูเน โอลาโบเด ฟาชิน่า อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลงโทษสถานเบา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง และนายอิดริสซ่า แซสซี่ เป็นคดีใหม่ โดยขอให้ศาลสั่งริบบัตรเบิกถอนเงินสดอัตโนมัติ หนังสือเดินทางของประเทศสาธารณรัฐเซียร่าเลโอน ธนบัตรดอลล่าร์สหรัฐฉบับละ 100 ดอลล่าร์ รวม 230 ฉบับ เช็คของธนาคารบอสตัน และเช็คของธนาคารเมลลอล แบงค์ เอ็น เอ จำกัด ของกลาง นายอิดริสซ่า แซสซี่ ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีใหม่แล้วศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนายอิดริสซ่า แซสซี่ ตามฟ้อง และสั่งริบของกลาง ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 8406/2541 คดีหมายเลขแดงที่ 2436/2542 ของศาลชั้นต้น นายอิดริสซ่า แซสซี่ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2542 คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2542 ส่วนจำเลยทั้งสองโจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2542 และขอให้ศาลสั่งริบบัตรเบิกถอนเงินสดอัตโนมัติ 3 ใบ ธนบัตรดอลลาร์สหรัฐฉบับละ 100 ดอลลาร์ รวม 230 ฉบับ เช็คของธนาคารบอสตัน และเช็คของธนาคารเมลลอน แบงค์ เอ็น เอ จำกัด ของกลาง ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2794/2542 คดีหมายเลขแดงที่ 6155/2543 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2543 โดยศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและสั่งริบของกลางด้วย ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2544 ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอคืนธนบัตรของกลางเป็นคดีนี้ เห็นว่า การขอคืนของกลางตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ซึ่งเจ้าของมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ย่อมมีสิทธิขอคืนต่อศาลได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น คำว่า “วันคำพิพากษาถึงที่สุด” ย่อมหมายความถึงคำพิพากษาในคดีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์ ตามข้อเท็จจริงได้ความว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2436/2542 ของศาลชั้นต้นกับคดีนี้เป็นกรณีเดียวกัน แต่ฟ้องคดีคนละคราวกัน ทรัพย์สินที่ยึดได้ก็เป็นทรัพย์สินรายเดียวกัน ทรัพย์สินต่าง ๆ รวมทั้งธนบัตรของกลาง จึงเป็นของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบไปแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2436/2542 ของศาลชั้นต้น ก่อนคดีนี้ แม้โจทก์จะมีคำขอให้ริบธนบัตรของกลางในคดีนี้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบธนบัตรของกลาง ก็ไม่อยู่ในอำนาจของศาลในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีหลังที่จะสั่งให้ริบธนบัตรของกลางซ้ำอีก ธนบัตรของกลางจึงมิใช่ของกลางในคดีนี้ที่ศาลจะพึงวินิจฉัยสั่งด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาและมีคำสั่งให้ริบธนบัตรของกลางแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2436/2542 นายอิดริสซ่า แซสซี่ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2542 ผู้ร้องมายื่นคำร้องในคดีนี้ ขอคืนธนบัตรของกลางเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 จึงเป็นการยื่นคำร้องภายหลังวันที่คำพิพากษาในคดีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบธนบัตรของกลางถึงที่สุดแล้วเกิน 1 ปี คำร้องของผู้ร้องจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225″
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง.