คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4077/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยไม่มีเจตนาแต่แรกที่จะขายแผ่นซีดีภาพยนตร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย แต่เป็นกรณีที่ฝ่ายผู้เสียหายได้ชักจูงใจหรือก่อให้จำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย การแจ้งความร้องทุกข์จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย ทำให้การสอบสวนไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 31, 70, 75 และ 76 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 6 และ 34 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และ 91 ให้แผ่นวิดีโอซีดี จำนวน 100 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 31, 70, 75 และ 76 ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 3 เดือน และปรับ 51,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ทั้งให้ความรู้ต่อศาลเป็นประโยชน์ทางพิจารณาอยู่บ้างสมควรลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 เดือน และปรับ 34,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยในการประพฤติตนให้ดีงาม โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ให้แผ่นวิดีโอซีดีภาพยนตร์ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 110 แผ่น ตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ค่าปรับเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 และให้จ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ข้อหานอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่บริเวณร้านขายซีดีที่เกิดเหตุพร้อมของกลาง คือแผ่นซีดีภาพยนตร์เรื่อง “โหมโรง” จำนวน 50 แผ่น และ “บอร์ดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม” จำนวน 60 แผ่น ซึ่งบรรจุอยู่ในถุงพลาสติก สำหรับความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ ฯ นั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง และไม่มีคู่ความอุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติ คงมีปัญหาเฉพาะความผิดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ฯ ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรวินิจฉัยในเบื้องต้นเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เนื่องจากคดีนี้ผู้เสียหายเลือกที่จะแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อจำเลย จึงตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายในการดำเนินคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ซึ่งให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น โจทก์นอกจากจะต้องนำสืบพิสูจน์การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องแล้ว โจทก์ต้องแสดงให้เห็นว่า ผู้เสียหายคดีนี้เป็นผู้เสียหายตามกฎหมายด้วย การแจ้งความร้องทุกข์จึงจะชอบด้วยกฎหมาย อันมีผลให้โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ สำหรับคดีนี้ นายไพบูลย์ บัวพันธ์ ผู้รับมอบอำนาจช่วงของผู้เสียหายเบิกความว่าพยานทราบว่ามีการนำภาพยนตร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์มาจำหน่ายที่ร้านขายซีดีที่เกิดเหตุ นางอชินีหรือน้อย บัวพันธ์ ภริยาของนายไพบูลย์เป็นผู้เข้าไปติดต่อสอบถามจากผู้หญิง แต่ภายหลังนางอชินีติดต่อกับจำเลยซึ่งเป็นสามีของผู้หญิงคนดังกล่าว ต่อมานายไพบูลย์ได้ยินจากเสียงที่ติดต่อกันทางโทรศัพท์ระหว่างนางอชินีกับจำเลยว่า จำเลยจะนำภาพยนตร์ที่ต้องการสั่งมาให้หลายเรื่องซึ่งรวมทั้งภาพยนตร์ของกลางด้วย ในเวลาเกิดเหตุ จำเลยขับรถจักรยานยนต์ถือถุงพลาสติกใส่แผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางมาที่ร้านขายซีดีที่เกิดเหตุ นางอชินีเข้าไปพูดคุยด้วย จำเลยนำแผ่นซีดีภาพยนตร์ดังกล่าวให้นางอชินีดูแล้วเจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการจับกุมจำเลย เห็นว่า ตามคำของนายไพบูลย์ แสดงว่านางอชินีเป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นเกี่ยวกับการติดต่อซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางจากจำเลย ส่วนนายไพบูลย์เป็นเพียงพยานบอกเล่าในเรื่องการติดต่อซื้อขายครั้งนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ข้างต้นยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า การติดต่อซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางดังกล่าวเป็นไปในลักษณะใด เพราะดาบตำรวจกษิดิ์เดช นพภาลัย เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยพยานโจทก์เบิกความว่าผู้เสียหายให้สายลับทำการล่อซื้อ แต่นายไพบูลย์เบิกความตอบโจทก์ถามติงว่าพยานไม่ได้ทำการล่อซื้อ ร้านค้าจำเลยมีแผ่นซีดีขายอยู่แล้ว นางอชินีบอกว่าเป็นร้านที่มีกิจการขายแผ่นซีดีรายใหญ่ จึงได้มีการขอซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์ในคดีนี้ ซึ่งคำเบิกความดังกล่าวของนายไพบูลย์ขัดกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดี เนื่องจากแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางเป็นแผ่นซีดีภาพยนตร์ที่จำเลยนำมาจากภายนอกทั้งสิ้น ไม่ใช่แผ่นซีดีภาพยนตร์ที่มีอยู่ในร้านขายซีดีที่เกิดเหตุ และตามทางนำสืบของโจทก์เองก็ไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ยืนยันว่าในร้านขายซีดีที่เกิดเหตุมีแผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ ฯ เพราะทางนำสืบของโจทก์ยังฟังไม่ได้แน่ชัดนั้น ก็ทำให้มีเหตุน่าสงสัยว่าร้านขายซีดีที่เกิดเหตุเป็นร้านที่มีกิจการขายแผ่นซีดีรายใหญ่ตามที่นายไพบูลย์เบิกความจริงหรือไม่ คดีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า นางอชินีซื้อขายแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางจากร้านขายซีดี ที่เกิดเหตุตามวิธีปกติ ซึ่งหากเป็นกรณีที่ผู้เสียหายโดยนายไพบูลย์ใช้ให้นางอชินีล่อซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลาง เพื่อที่จะได้หลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยตามคำเบิกความของดาบตำรวจกษิดิ์เดชแล้ว การล่อซื้อดังกล่าวจะต้องไม่เป็นการกระทำที่ชักจูงใจหรือก่อให้จำเลยกระทำความผิดขึ้นมา แต่ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์นั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า โดยพร้อมที่จะจัดหาแผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวมาได้ทันที หรือจำเลยมีพฤติการณ์ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นด้วยความสมัครใจของตนเองมาก่อน สำหรับคดีนี้ แม้ว่าจะมีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจและมีการนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยก็ตาม แต่จากคำเบิกความของดาบตำรวจกษิดิ์เดชและพันตำรวจตรีนภดล ทับเกตุ พนักงานสอบสวน ก็แสดงให้เห็นว่า เจ้าพนักงานตำรวจไม่ทราบเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในคดีนี้มาก่อน และไม่ทราบเรื่องที่นางอชินีได้ติดต่อซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางจากจำเลยไว้ก่อน พฤติการณ์ของคดีเป็นการที่ผู้เสียหายดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเองทั้งสิ้น แล้วจึงแจ้งความร้องทุกข์เพื่อนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลย นอกจากนี้ นายไพบูลย์ได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานทราบว่าขณะเกิดเหตุ จำเลยมีอาชีพขายของตามตลาดนัด ปกติไม่ได้อยู่ที่ร้าน และพันตำรวจตรีนภดลเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยมีอาชีพรับจ้างทั่ว ๆ ไป พยานจำใจความที่จำเลยรับสารภาพได้ตอนหนึ่งว่า จำเลยหาซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์มาขายให้ผู้สั่งซื้อต่อซึ่งบันทึกคำให้การของจำเลยตามเอกสารหมาย จ. 8 ก็ปรากฏข้อความในทำนองนี้อยู่ พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีอาชีพขายแผ่นซีดีอยู่ที่ร้านขายซีดีที่เกิดเหตุเป็นประจำ หรือมีพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาก่อนแล้ว คงฟังได้เพียงว่าเหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเพราะมีคนสั่งให้จำเลยซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลาง เมื่อโจทก์ไม่นำนางอชินีมาเบิกความเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงและให้โอกาสจำเลยได้ซักค้าน พยานหลักฐานของโจทก์ย่อมไม่อาจรับฟังได้เป้นมั่นคงว่าจำเลยมีเจตนาแต่แรกที่จะขายแผ่นซีดีภาพยนตร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย และอาจเป็นกรณีที่นางอชินีขอให้จำเลยไปหาซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางจากตลาดนัดมาให้ตามที่จำเลยนำสืบต่อสู้ก็เป็นได้ เพราะจำเลยได้ให้การถึงกรณีที่มีคนสั่งให้ตนซื้อแผ่นซีดีภาพยนตร์ของกลางมาตั้งแต่ต้น ตามที่ปรากฏในบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ. 8 ซึ่งได้จัดทำขึ้นในวันเกิดเหตุนั่นเอง ทั้งจำเลยได้ถามค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับนางน้อยมาโดยตลอด น่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าเป็นกรณีที่ฝ่ายผู้เสียหายได้ชักจูงใจหรือก่อให้จำเลยกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ตามฟ้อง และไม่อาจถือได้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายการแจ้งความร้องทุกข์ จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย ทำให้การสอบสวนไม่ชอบ และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งสิ้น.

Share