คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4165/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักบัตรถอนเงินสดของผู้เสียหายในเคหสถาน อันเป็นการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) วรรคแรก และจำเลยใช้บัตรดังกล่าวเบิกถอนเงินสดผ่านเครื่องฝาก – ถอนเงินอัตโนมัติ อันเป็นการลักทรัพย์ของผู้เสียหายอีกจำนวน 5 ครั้ง ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 334 และจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานตาม ป.อ. มาตรา 335 และลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 แม้ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 335 เพียงมาตราเดียว แต่ความผิดข้อหาลักทรัพย์ในเคหสถานตามที่โจทก์ฟ้องนั้นรวมการกระทำความผิดข้อหาลักทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง การที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 ด้วยจึงเป็นการลงโทษจำเลยในการกระทำผิดตามที่พิจารณาได้ความ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย มิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
จำเลยลักบัตรถอนเงินสดไปจากผู้เสียหาย แล้วนำไปลักเงินของผู้เสียหายโดยผ่านเครื่องฝาก – ถอนเงินอัตโนมัติรวมจำนวน 5 ครั้ง ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นคนละประเภทและเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระ และอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2546 ถึงวันที่ 26 กันยายน 2546 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยเข้าไปในบ้านเลขที่ 98 หมู่ที่ 1 ตำบลคลองน้อย อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายโกมล สงกรานต์ ผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วลักบัตรถอนเงินสด (บัตร เอ ที เอ็ม) ใช้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากผ่านเครื่องฝาก – ถอนเงินอัตโนมัติ จำนวน 1 ใบ ซึ่งธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ออกให้แก่ผู้เสียหาย ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2546 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยใช้บัตรถอนเงินสดดังกล่าวโดยใช้รหัสเบิกถอนเงินที่จำเลยรู้จากผู้เสียหาย เบิกถอนเงินสดจำนวน 20,020 บาท และจำนวน 520 บาท ไปเป็นของตนโดยทุจริต ต่อมาวันที่ 20 ตุลาคม 2546 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยใช้บัตรถอนเงินสดดังกล่าวเบิกถอนเงินสดจำนวน 10,020 บาท จำนวน 5,020 บาท และจำนวน 2,020 บาท ไปเป็นของตนโดยทุจริตรวมเงินที่จำเลยได้ไปจากการลักทรัพย์ จำนวน 37,600 บาท เหตุเกิดที่ตำบลคลองน้อย และตำบลตลาด อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกี่ยวพันกัน ผู้เสียหายได้รับเงินคืนจากจำเลยแล้วจำนวน 6,000 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 31,600 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 (8) วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน จำคุก 3 ปี ฐานลักทรัพย์ รวม 5 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 13 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืน 19,100 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาประการแรกว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 โดยมิได้ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 มาด้วย เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักบัตรถอนเงินสด (บัตร เอ ที เอ็ม) ของผู้เสียหายในเคหสถาน อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) วรรคแรก และจำเลยใช้บัตรดังกล่าวเบิกถอนเงินสดผ่านเครื่องฝาก ถอนเงินอัตโนมัติ อันเป็นการลักทรัพย์ของผู้เสียหายอีกจำนวน 5 ครั้ง ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาเป็นอันยุติตามคำฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 และลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 แม้ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ซึ่งเป็นความผิดข้อหาลักทรัพย์ในเคหสถานแต่เพียงมาตราเดียว แต่ความผิดข้อหาลักทรัพย์ในเคหสถานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ตามที่โจทก์ฟ้องนั้นรวมการกระทำความผิดข้อหาลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 จึงเป็นการลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย มิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาไม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า การลักบัตรถอนเงินสด (บัตร เอ ที เอ็ม) ของผู้เสียหายแล้วจำเลยใช้บัตรดังกล่าวไปลักเงินของผู้เสียหายผ่านเครื่องฝาก ถอนเงินอัตโนมัติ เป็นการกระทำกรรมเดียวหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยลักบัตรถอนเงินสด (บัตร เอ ที เอ็ม) ไปจากผู้เสียหาย แล้วนำไปลักเงินของผู้เสียหายโดยผ่านเครื่องฝาก – ถอนเงินอัตโนมัติ รวมจำนวน 5 ครั้งนั้น ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นทรัพย์คนละประเภทและเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระ และอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ การลักบัตรถอนเงินสด (บัตร เอ ที เอ็ม) ไปจากผู้เสียหายกับลักเงินของผู้เสียหายโดยผ่านเครื่องฝาก – ถอนเงินอัตโนมัติ รวมจำนวน 5 ครั้ง จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งจะต้องใช้กฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดลงแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้ฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลงโทษสถานเบากว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยได้มีการชดใช้เงินให้ผู้เสียหายบางส่วน อันเป็นการบรรเทาผลร้ายแห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นว่า โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นหนักเกินไปเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสม”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้วางโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน 1 ปี 6 เดือน และฐานลักทรัพย์รวม 5 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 36 เดือน ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 24 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8.

Share