คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3094/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรจากผู้ทรงสิทธิบัตรและมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้แบบผลิตภัณฑ์กับผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร หรือขาย มีไว้เพื่อขาย หรือเสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้แบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรที่จดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ไม่รวมถึงการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศไทย โจทก์จึงมิใช่ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 เพราะผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามมาตรา 38 ต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากผู้ทรงสิทธิบัตรที่ออกโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เท่านั้น โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายที่พึงจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 33, 63 ประกอบมาตรา 65 และไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 84

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นเดือนธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันละเมิดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ระบบกำแพงกันดิน “ก้อนมาตรฐานโครงสร้างของกำแพงกันดิน DURA HOLD” ที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิมาจากบริษัทจ๊ากน่า จำกัด ด้วยการเลียนแบบ หรือใช้แบบ ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อันเป็นการกระทำเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ เหตุเกิดที่ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3, 36, 38, 56, 63, 65, 85, 88 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ทางไต่สวนโจทก์นำสืบว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ผลิตวัสดุก่อสร้างที่ทำด้วยซีเมนต์ทุกชนิด ปรากฏตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ. 1 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการค้าวัสดุก่อสร้าง มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ปรากฏตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ. 2 สิทธิบัตรที่พิพาทในคดีนี้เป็นของนายแองเจิลโล ริชชี่ และนายแอนโตนิโอ ริชชี่ จดทะเบียนสิทธิบัตร ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นสิทธิบัตรระบบกำแพงกันดินใช้ชื่อทางการค้าคำว่า DURA HOLD ปรากฏตามใบรับรองสิทธิบัตร พร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ. 3 โดยมีบริษัทรูทเบอรี่ อินเตอร์เนชั่นแนลอิงค์ และบริษัทจ๊ากน่า จำกัด เป็นผู้บริหารสิทธิบัตรดังกล่าว โดยมีพื้นที่ทางการตลาดครอบคลุมถึงภาคใต้ของประเทศไทย ปรากฏตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ พร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ. 8 โดยเจ้าของสิทธิบัตรให้สัตยาบัน ปรากฏตามหนังสือให้สัตยาบันพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ. 4 มีการต่ออายุสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2545 ปรากฏตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ. 9 เมื่อโจทก์ได้รับสิทธิบัตรดังกล่าว โจทก์ได้ผลิตผลิตภัณฑ์ตามแบบผลิตภัณฑ์ ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ. 10 และได้โฆษณาผลิตภัณฑ์ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ. 11 ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2547 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันผลิตผลิตภัณฑ์ระบบกำแพงกันดิน DURA HOLD ด้วยการเลียนแบบและนำไปใช้รับเหมาก่อสร้างขององค์การบริหารส่วนตำบลรัษฎา ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ. 12 เดิมจำเลยที่ 1 เคยซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากโจทก์ เหตุเกิดที่ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า คดีโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายที่จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 และการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการละเมิดสิทธิบัตรตามฟ้องนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะทำสัญญาเป็นผู้มีสิทธิในการผลิตการขายผลิตภัณฑ์ตามที่มีการจดสิทธิบัตรไว้แต่ผู้เดียว แต่สิทธิบัตรที่จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ต้องเป็นสิทธิบัตรที่ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พร้อมทั้งเปิดเผยรายละเอียดการประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์และเมื่อผ่านการตรวจสอบว่ามีลักษณะครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงจะออกสิทธิบัตรให้ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 33 สิทธิบัตรที่ออกโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวจึงจะได้รับความคุ้มครองในราชอาณาจักรไทยซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นหลักสากลกล่าวคือ ปกติแล้วผู้ทรงสิทธิบัตรจะบังคับสิทธิบัตรของตนได้เฉพาะภายในอาณาเขตของประเทศที่ออกสิทธิบัตรเท่านั้น ผู้ทรงสิทธิบัตรไม่สามารถบังคับสิทธิของตนต่อการกระทำละเมิดที่เกิดขึ้นภายนอกอาณาเขตของประเทศที่ออกสิทธิบัตรได้ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายชริน ธำรงเกียรติกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า นายแองเจโร่ ริชชี่ และนายแอนโตนิโอ ริชชี่ เจ้าของสิทธิบัตร ไม่เคยยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศไทย แต่ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาหมายเลข 4,490,075 สิทธิบัตรดังกล่าวจึงย่อมได้รับความคุ้มครองเฉพาะภายในอาณาเขตประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นที่มีกฎหมายยอมรับบังคับให้ดังนั้น แม้โจทก์จะนำสืบว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรดังกล่าวจากผู้ทรงสิทธิบัตรและมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้แบบผลิตภัณฑ์กับผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร หรือขาย มีไว้เพื่อขาย หรือเสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้แบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรที่จดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่สิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ดังกล่าวไม่รวมถึงการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศไทย โจทก์จึงมิใช่ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 เพราะผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามมาตรา 38 ต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากผู้ทรงสิทธิบัตรที่ออกโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เท่านั้น โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายที่พึงจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 33, 63 ประกอบด้วยมาตรา 65 และไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามมาตรา 84 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share