คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4137/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482มาตรา 58 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลชั้นต้นเมื่อได้รับคำร้องคัดค้านแล้วให้ดำเนินการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการเลือกตั้งหรือผู้ได้รับเลือกตั้งที่มีส่วนได้เสียมีโอกาสต่อสู้การคัดค้านนั้น เมื่อศาลสั่งอย่างใดให้แจ้งคำสั่งไปยังเทศบาลโดยมิชักช้า คำสั่งศาลนั้นให้เป็นที่สุด ซึ่งหมายความว่าเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอย่างไรเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด คู่ความไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ สาระสำคัญในการไต่สวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตาม พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 อยู่ที่คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 58 วรรคหนึ่งบัญญัติให้คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวให้เป็นที่สุดคู่ความทุกฝ่ายจึงไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 19 เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งโดยมิชอบตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482มาตรา 57 และขอให้เทศบาลเมืองพระประแดงจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ระหว่างไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามคำร้อง คำคัดค้าน และพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยได้แล้วโดยจำเป็นต้องไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่เหลือต่อไป จึงให้งดการไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่เหลือ คดีเสร็จการพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 19 เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งโดยมิชอบตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482มาตรา 57 คำขอนอกจากนี้ให้ยก
ผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลชั้นต้นสั่งว่า คำสั่งของศาลที่สั่งว่าไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้งโดยชอบนั้น กฎหมายบัญญัติให้เป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กรณีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5ที่ 11 และที่ 12 ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งงดสืบพยานจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว อีกทั้งคดีนี้ศาลมีคำสั่งให้งดสืบพยานผู้คัดค้านที่เหลือเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2540 และนัดฟังคำสั่งวันที่ 3 กรกฎาคม 2540 ผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12ทราบถึงกำหนดนัดดังกล่าวแล้วย่อมมีระยะเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งศาลได้แล้ว แม้ในวันนัดวันที่ 28 พฤษภาคม 2540จะมิใช่วันนัดสืบพยานของผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12ก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 ทราบถึงกำหนดนัดดังกล่าวแล้วแต่ไม่มาศาล ย่อมถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 4ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 ทราบถึงคำสั่งศาลที่สั่งงดสืบพยานผู้คัดค้านที่เหลือแล้ว เมื่อผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11และที่ 12 มิได้โต้แย้งคำสั่งศาลที่สั่งงดสืบพยานผู้คัดค้านที่เหลือไว้ จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งที่ศาลสั่งงดสืบพยานผู้คัดค้านที่เหลือ จึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12
ผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าในวันที่ 28 พฤษภาคม 2540 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องคำคัดค้าน และพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยได้แล้วโดยไม่จำต้องไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่เหลือต่อไป จึงให้งดไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่เหลือนั้นเป็นวันนัดไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 มิได้นัดไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 ด้วย การที่ผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 ตลอดจนทนายความไม่มาศาลในวันนัดดังกล่าว จึงมีผลเพียงทำให้เสียสิทธิในการถามค้านพยานของผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ที่จะนำเข้าสืบในวันดังกล่าวเท่านั้น ทั้งตามสำนวนไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งวัดนัดไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ในวันดังกล่าวให้ผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 ทราบแต่อย่างใดกรณีจึงจะถือว่าผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 ทราบวันนัดพิจารณาและทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่เหลือไม่ได้ นอกจากนี้เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่เหลือแล้วแม้จะได้ประกาศวันนัดฟังคำสั่งที่หน้าศาล และหมายนัดแจ้งให้ผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5ที่ 11 และที่ 12 ทราบก็ตาม แต่ประกาศและหมายนัดดังกล่าวคงระบุเพียงนัดฟังคำสั่งเท่านั้น ไม่ได้ระบุโดยแจ้งชัดว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่เหลือแต่อย่างใดกรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12ทราบถึงคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่เหลือผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 ย่อมไม่มีโอกาสโต้แย้งคำสั่งนั้นได้ จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 และหากคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11และที่ 12 นั้นไม่ชอบตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5ที่ 11 และที่ 12 ก็ย่อมมีผลทำให้ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีใหม่สำหรับผู้คัดค้านที่ 4ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 ศาลอุทธรณ์ภาค 2ไม่เห็นพ้องด้วย ให้รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11และที่ 12 และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป โดยศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2540
ต่อมาวันที่ 3 กันยายน 2540 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า คำสั่งศาลที่สั่งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลพ.ศ. 2482 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เป็นที่สุดไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 4ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 จึงเป็นคำสั่งที่ขัดต่อกฎหมายและเป็นคำสั่งที่ผิดระเบียบ ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพิกถอนคำสั่งที่ให้รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 และให้เพิกถอนการอ่านคำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2540ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า แม้คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่าไม่มีบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดได้รับเลือกตั้งโดยชอบ ซึ่งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 58 วรรคหนึ่งจะบัญญัติให้เป็นที่สุดก็ตามก็หมายเฉพาะคำสั่งดังกล่าวเท่านั้นมิได้หมายรวมถึงกระบวนพิจารณาก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งดังกล่าวด้วย ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12จึงอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5ที่ 11 และที่ 12 ซึ่งเป็นคำสั่งเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นได้ และหากคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ชอบตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 ก็ย่อมมีผลทำให้ศาลชั้นต้นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีใหม่สำหรับผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5ที่ 11 และที่ 12 และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับ คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 วรรคหนึ่งผู้ร้องจะมาขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ให้รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 และเพิกถอนการอ่านคำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2540 ไม่ได้ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ให้รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482มาตรา 58 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อศาลได้รับคำร้องคัดค้านแล้วให้ดำเนินการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยเร็ว โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการเลือกตั้งหรือผู้ได้รับเลือกตั้งที่มีส่วนได้เสียมีโอกาสต่อสู้การคัดค้านนั้น เมื่อศาลสั่งอย่างใด ให้แจ้งคำสั่งไปยังเทศบาลโดยมิชักช้า คำสั่งศาลนั้นให้เป็นที่สุด” ซึ่งหมายความว่าเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอย่างไรเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด คู่ความไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ การที่ผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 อุทธรณ์ว่าการสั่งงดไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 ของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่ให้งดการไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่เหลือโดยเห็นว่าตามคำร้องคำคัดค้านและพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยได้แล้วโดยไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่เหลือต่อไปนั้น ย่อมมีผลถึงผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 ที่อุทธรณ์คำสั่งด้วย แม้ศาลชั้นต้นจะไม่ได้แจ้งให้ผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5ที่ 11 และที่ 12 ทราบก็ไม่เป็นสาระสำคัญ เพราะสาระสำคัญในการไต่สวนการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482อยู่ที่คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 19 เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ซึ่งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาตรา 58 วรรคหนึ่งบัญญัติให้คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวให้เป็นที่สุด คู่ความทุกฝ่ายจึงไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้
พิพากษายกคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ให้รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ที่ 11 และที่ 12 ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

Share