คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6337/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้การกระทำของจำเลยยังไม่ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยเป็นการใช้เอกสารปลอมโดยส่งโทรสาร ซึ่งหากผู้รับโทรสารเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงแล้วจะเกิดความเสียหายอย่างมาก แม้จำเลยจะไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนก็ตาม แต่พฤติการณ์แห่งคดีเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม ไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับมีข้อความว่า ให้เชนลิซซิ่ง ทุกสาขาโอนเงินจำนวนสาขาละ20,000 บาท ภายในวันที่ 17 ตุลาคม 2539 เวลา 12 นาฬิกาเข้าบัญชีออมทรัพย์เลขที่ 343-040623-5 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาพนัสนิคม โดยอ้างว่าเพื่อนำเงินไปพัฒนาและวิเคราะห์ระบบภาษีอากรให้เป็นไปอย่างมีระบบและคุณภาพสูงสุดแล้วลงลายมือชื่อปลอมของนายรชต์เขตต์ โรจนมณเฑียร ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดเชนลิซซิ่ง แอนด์ ไฮร์-เฟอร์เชส ชลบุรีผู้เสียหาย ในเอกสารดังกล่าว โดยจำเลยมีเจตนาให้ผู้จัดการสาขาแต่ละแห่งของผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเอกสารดังกล่าวที่จำเลยปลอมขึ้นเป็นเอกสารที่แท้จริง แล้วจำเลยได้บังอาจใช้เอกสารปลอมดังกล่าวส่งโทรสาร (แฟกซ์) ไปยังห้างหุ้นส่วนจำกัดเชนลิซซิ่ง แอนด์ ไฮร์เฟอร์เชส ชลบุรีสาขาจังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดเชนลิซซิ่ง แอนด์ ไฮร์เฟอร์เชส ชลบุรี สาขาจังหวัดกาฬสินธุ์หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารแท้จริง แล้วโอนเงินจำนวน 20,000 บาทเข้าบัญชีดังกล่าว การกระทำของจำเลยน่าจะเป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเชนลิซซิ่ง แอนด์ไฮร์-เฟอร์เชส ชลบุรีและนายรชต์เขตต์ โรจนมณเฑียร ผู้เสียหายได้รับความเสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268
จำเลยให้การปฏิเสธแต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วจำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 (ที่ถูกมาตรา 264 วรรคแรก), 268 วรรคแรก(ที่ถูกมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก)แต่จำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอม จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมกระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 568 วรรคสองประกอบมาตรา 264 (ที่ถูกมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ตามมาตรา 268 วรรคสอง) จำคุก 6 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพลงโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้นเห็นว่า แม้การกระทำของจำเลยยังไม่ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยเป็นการใช้เอกสารปลอมโดยส่งโทรสาร ซึ่งหากผู้รับโทรสารเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงแล้วจะเกิดความเสียหายอย่างมาก แม้จำเลยจะไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนก็ตาม แต่พฤติการณ์แห่งคดีเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม จึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share