แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ประเด็นในเรื่องนี้จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นสืบพยานและพิพากษาใหม่แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่แล้ว จำเลยจะอุทธรณ์โต้แย้ง ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมอีกไม่ได้ เพราะเป็นการดำเนิน กระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นทางสาธารณประโยชน์โดยปริยายแล้ว การซื้อขายระหว่างโจทก์กับเจ้าของเดิมขัดต่อกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาครั้งแรกได้วินิจฉัยเพียงว่า ไม่มีกฎหมายใดบังคับว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะขายที่ดินของตนที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรให้แก่บุคคลอื่นไม่ได้ โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทมาจากเจ้าของที่ดินเดิมโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โดยยังมิได้วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยปริยายหรือไม่ อันจะเป็นข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การปรับบทกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องตามที่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้หรือไม่ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยจะขอให้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทนี้อีกไม่ได้ เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในครั้งแรกแล้วเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยประเด็นข้อนี้โดย ไม่ต้องย้อนสำนวน เจ้าของที่ดินเดิมได้อุทิศที่ดินส่วนที่เป็นถนนในโครงการศูนย์การค้าที่จัดสรรทุกสายซึ่งรวมถึงถนนที่ที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วยให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยผลของการแสดงเจตนาอุทิศดังกล่าว แม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทาง ทะเบียนก็ตาม ก็ต้องถือว่าเจ้าของเดิมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและจะโอนแก่กันไม่ได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่ง บทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินก่อนโจทก์จะรับโอนที่ดินมา การรับโอนที่ดินพิพาทของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายโจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ทั้งไม่มีสิทธิยึดถือที่ดินพิพาทเอาเป็นของตนเอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
ย่อยาว
เดิมสำนวนคดีนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีซึ่งโจทก์ฟ้องนายสุทัศน์ ศรีบุญทรง เป็นจำเลยอีกสำนวนคดีหนึ่งตามคดีหมายเลขแดงที่ 752/237 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ คงมีปัญหาขึ้นสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 36352 จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 36358พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 74/101 จำเลยต่อเติมบ้านของจำเลยข้างต้นออกไปทางด้านหลังกว้างประมาณ 4 เมตร รุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินของโจทก์ประมาณ 2 เมตร โดยไม่มีสิทธิขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างซึ่งรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาสั่งให้จำเลยรื้อถอน โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นถนนในบริเวณหมู่บ้านนายปรีชา ประวิชัย เจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมเว้นที่ดินดังกล่าวไว้เป็นสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดสรรให้มีขึ้นเพื่อที่ดินที่จัดสรร จึงต้องเป็นภาระจำยอมโดยผลของกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 ต่อมาเมื่อประมาณปี 2527นายปรีชาถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายปรีชาเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่ต้องนำที่ดินในส่วนที่เป็นถนนออกขายทอดตลาดและตกลงยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครดำเนินการรังวัดแบ่งแยกทางถนนตามข้อตกลงข้างต้นแล้ว ที่ดินแปลงที่โจทก์นำมาฟ้องจึงกลายเป็นทางสาธารณประโยชน์ ตามคำสั่งศาลไปโดยปริยายแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายนายปรีชากับโจทก์จึงร่วมกันทุจริตโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยมิได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน การซื้อขายระหว่างนายปรีชากับโจทก์เป็นการขัดต่อกฎหมาย การโอนเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ที่ดินพิพาทผู้จัดสรรเว้นไว้ให้ผู้ซื้อต่อเติมทำเป็นห้องครัว จำเลยจึงได้ต่อเติมหลังบ้านเป็นห้องครัวเข้าไปในที่ดินที่พิพาทโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้ว พิพากษาให้จำเลยและนายสุทัศน์ ศรีบุญทอง รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ 36352 ของโจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยและนายสุทัศน์ ศรีบุญทรง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าประเด็นเรื่องฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมและเรื่องอำนาจฟ้องเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ครั้งแรกแล้วหรือไม่ และศาลฎีกาจะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยอีกได้หรือไม่เห็นว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม และไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาดังกล่าวจึงต้องฟังว่าประเด็นในเรื่องนี้ได้ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่แล้ว จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งในปัญหาดังกล่าวอีก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นชอบแล้วสำหรับในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องนั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยครั้งแรกว่า ที่ดินของโจทก์เป็นส่วนที่เป็นถนนตามที่ปรากฏในแผนผังการจัดสรรมีการแบ่งที่ดินออกเป็นแปลงย่อย ๆ ติดต่อกัน จึงเป็นสาธารณูปโภคตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 1 และต้องตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรรตามข้อ 30แม้ผู้จัดสรรจะมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดก็ตาม แต่ก็ไม่มีอำนาจโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้อื่น โจทก์จึงรับโอนที่ดินพิพาทมาโดยไม่ชอบ จึงไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยครั้งแรกว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า ที่ดินของโจทก์เป็นถนนที่ผู้จัดสรรที่ดินเดิมได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินซึ่งตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรรก็ตาม แต่ก็ไม่มีกฎหมายใดบังคับว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนขายที่ดินของตนให้แก่บุคคลอื่นไม่ได้ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 บังคับไว้แต่เพียงว่า ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปจะต้องบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ โจทก์รับโอนที่ดินที่เป็นถนนจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจใช้สิทธิในฐานะเจ้าของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง และพิพากษาให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจำเลยในประเด็นที่ว่า จำเลยและนายสุทัศน์ ศรีบุญทอง ปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริตหรือไม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เห็นว่าจำเลยให้การยกข้อต่อสู้ไว้ด้วยว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์โดยปริยายแล้ว การซื้อขายระหว่างโจทก์กับเจ้าของเดิมจึงขัดต่อกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาครั้งแรกโดยวินิจฉัยเพียงว่า ไม่มีกฎหมายใดบังคับว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะขายที่ดินของตนที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรให้แก่บุคคลอื่นไม่ได้ โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทมาจากเจ้าของที่ดินเดิม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องโดยยังหาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยปริยายแต่อย่างใด อันจะเป็นข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การปรับบทกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ตามที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยและนายสุทัศน์ ศรีบุญทรงจะขอให้วินิจฉัยข้อที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่อีกหาได้ไม่เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3ได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ไว้แต่แรก และไม่รับวินิจฉัยนั้นจึงไม่ชอบ ปัญหานี้ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยไว้ แต่โจทก์และจำเลยได้สืบพยานจนสิ้นกระแสความแล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของถนนในโครงการจัดสรรที่ดินที่เจ้าของที่ดินเดิมจัดทำไว้ใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ และเจ้าของที่ดินเดิมยินยอมให้ประชาชนทั่วไปและผู้ที่พักอาศัยในหมู่บ้านจัดสรรใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นระยะเวลาติดต่อกันมานานมากแล้ว โจทก์ไม่นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เจ้าของที่ดินเดิมได้อุทิศที่ดินส่วนที่เป็นถนนในโครงการศูนย์การค้าที่จัดสรรทุกสายซึ่งรวมถึงถนนที่ที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วยให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยผลของการแสดงเจตนาอุทิศดังกล่าว แม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนก็ตามก็ต้องถือว่าเจ้าของเดิมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและจะโอนแก่กันไม่ได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก่อนโจทก์จะรับโอนที่ดินนั้น การรับโอนที่ดินพิพาทของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งไม่มีสิทธิยึดถือที่ดินพิพาทเอาเป็นของตนเอง เมื่อโจทก์ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยสำนวนนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3