คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5062/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอม เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องโจทก์ จำเลยจะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่าเอกสารที่จำเลยกรอกข้อความขึ้นไม่เกี่ยวกับธนาคารเป็นแต่เพียงการทำหลักฐานหรือหนังสือเท็จ ไม่เป็นการปลอมเอกสารหรือเอกสารสิทธิดังฟ้องหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้วทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ซึ่งมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อีกด้วย และที่จำเลยฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวกับการกระทำในคดีที่ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยในคดีความผิดข้อหายักยอกทรัพย์ ซึ่งผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์ไปแล้ว ก็เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาเช่นเดียวกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยปลอมใบฝากเงินฝากกระแสรายวันของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาสะพานกรุงธน อันเป็นเอกสารสิทธิ โดยกรอกข้อความอันเป็นเท็จลงในแบบรายการใบฝากเงินดังกล่าวว่า จำเลยได้นำเช็คของผู้มีชื่อซึ่งเป็นลูกหนี้ของบริษัทโรงแรมจันทร์สมธารา จำกัด เข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันของบริษัทโรงแรมจันทร์สมธารา จำกัด แล้วได้ลงลายมือชื่อปลอมลงในช่องบายมือชื่อพนักงานรับ-จ่ายเงินของธนาคารดังกล่าว เป็นการรับรองว่าธนาคารได้รับเงินเข้าบัญชีเงินฝากของบริษัทโรงแรมจันทร์สมธารา จำกัด แล้ว เพื่อให้บริษัทโรงแรมจันทร์สมธารา จำกัด หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงที่บริษัทได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้แล้วซึ่งความจริงจำเลยมิได้นำเงินเข้าบัญชีของบริษัทดังกล่าว หลังจากปลอมแล้วจำเลยยังใช้อ้างแสดงต่อพนักงานของบริษัทโรงแรมจันทร์สมธารา จำกัด เพื่อยืนยันว่าจำเลยได้นำเงินของลูกหนี้เข้าบัญชีของบริษัทดังกล่าวแล้ว โดยจำเลยปลอมและใช้อ้างเอกสารดังกล่าวหลายครั้งขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 268 วรรคแรก
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ลงโทษตามมาตรา 268วรรคสอง รวม 20 กระทง เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 จำคุกกระทงละ6 เดือน รวมจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี
จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษจำเลยไม่ชอบ เพราะโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 91 และการกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 เท่านั้น นอกจากนี้ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่ายักยอกทรัพย์จำเลยก็ได้ชดใช้ค่าเสียหายจนผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ไปแล้ว ประกอบกับจำเลยกำลังตั้งครรภ์จึงขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง หรือลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกันและจำเลยให้การรับสารภาพ แม้โจทก์จะมิได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ศาลก็มีอำนาจเรียงกระทงลงโทษจำเลยได้ ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่น ๆ ของจำเลยเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแต่ในศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ จึงไม่รับวินิจฉัย พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อ 2.1 ว่า ใบฝากเงินฝากกระแสรายวันของธนาคารเป็นแบบฟอร์มทั่วไปสำหรับประชาชนหรือลูกค้าใช้กรอกข้อความเพื่อจะนำเงินเข้าฝากเป็นเสมือนเอกสารช่วยจำของผู้ฝากหรือพนักงานธนาคาร แม้จตำเลยกจะกรอกข้อความลงในแบบฟอร์มเอกสารดังกล่าวก็ไม่เกี่ยวกับธนาคาร เพราะจำเลยมิได้ยื่นและนำเงินเข้าฝากธนาคาร ไม่ทำให้เอกสารนั้นก่อให้เกิดสิทธิหรือผูกพันธนาคารชื่อพนักงานที่จำเลยลงชื่อไปจะมีตัวตนหรือไม่ก็ไม่ปรากฏเป็นเรื่องจำเลยกรอกข้อความและเซ็นชื่อเองทั้งหมด จึงเป็นกรณีที่จำเลยทำหลักฐานหรือหนังสืออันเป้นเท็จขึ้นเท่านั้น หาได้เป็นการปลอมเอกสารหรือเอกสารสิทธิแต่อย่างใดไม่ และฎีกาข้อ 2.3 ว่า สิทธินำคีดมาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)เพราะการกระทำของจำเลยในคดีนี้เป็นกรรมเดียวกับการกระทำในคดีที่ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดข้อหายักยอกทรัพย์ ซึ่งผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์ไปแล้ว พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ปลอมใบฝากเงินกระแสรายวันของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาสะพานกรุงธน อันเป็นเอกสารสิทธิ โดยกระอข้อความอันเป็นเท็จลงในแบบรายการใบฝากเงินดังกล่าวว่า จำเลยได้นำเช็คของผู้มีชื่อซึ่งเป็นลูกหนี้ของบริษัทโรงแรมจันทร์สมธารา จำกัดเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันของบริษัทโรงแรมจันทร์สมธารา จำกัดแล้วได้ลงลายมือชื่อปลอมลงในช่องลายมือชื่อพนักงานรับ-จ่ายเงินของธนาคารดังกล่าวเป็นการรับรองว่าธนาคารได้รับเงินเข้าบัญชีเงินฝากของบริษัทโรงแรมจันทร์สมธารา จำกัด แล้ว เพื่อให้บริษัทโรงแรมจันทร์สมธารา จำกัด หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงที่บริษัทได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้แล้ว ซึ่งความจริงจำเลยมิได้นำเงินเข้าบัญชีของบริษัทดังกล่าว หลังจากปลอมแล้วจำเลยยังใช้อ้างแสดงต่อพนักงานของบริษัทโรงแรมจันทร์สมธารา จำกัด เพื่อยืนยันว่าจำเลยได้นำเงินของลูกหนี้เข้าบัญชีของบริษัทดังกล่าวแล้ว ดังนี้เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องของโจทก์จำเลยจะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่า เอกสารที่จำเลยกรอกข้อความขึ้นไม่เกี่ยวกับธนาคาร เป็นแต่เพียงการทำหลักฐานหรือหนังสือเท็จ ไม่เป็นการปลอมเอกสารหรือเอกสารสิทธิดังฟ้องหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ซึ่งมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อีกด้วย และที่จำเลยฎีกาข้อ 2.3 ว่าการกระทำของจำเลยในคดีนี้เป็นกรรมเดียวกับการกระทำในคดีที่ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยในควาผมิดข้อหายักยอกทรัพย์ ซึ่งผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์ไปแล้วก็เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ซึ่งมิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้นเช่นเดียวกันฎีกาทั้งสองข้อของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยดังกล่าวขึ้นมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาจำเลย.

Share