คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2688/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างสำนวนคดีอาญาเป็นพยานตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 สำนวนคดีอาญาดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานที่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)ที่จะต้องได้รับการวินิจฉัย การที่ศาลยกฟ้องโจทก์โดยไม่วินิจฉัยพยานหลักฐานในสำนวนคดีอาญานั้นจึงเป็นการไม่ชอบ
การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดกฎหมาย และศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(3),247 ข้อเท็จจริงนี้ย่อมมีผลถึงโจทก์อื่นซึ่งต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 และกระทำการละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และพิพากษายกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 โจทก์ทุกคนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ว่าการที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยคำเบิกความของพยานในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1631/2518 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อประกอบการพิจารณาคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามสำนวนปรากฏว่า โจทก์ทั้งสี่ยื่นบัญชีพยานลงวันที่ 23 กันยายน 2518 อันดับ 14 อ้างสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1631/2518 คดีระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ โจทก์ นายวีระ โรหิตรัศมี โจทก์ร่วม นายสำราญ คำพันธ์ จำเลย อยู่ที่ศาลจังหวัดสุทรปราการ (คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์) เป็นพยานไว้แล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในบัญชีพยานว่ารวม และโจทก์เสียค่าอ้างเอกสารทั้งหมดเป็นเงิน 100 บาท เมื่อโจทก์ทั้งสี่ยื่นอุทธรณ์แล้ว วันที่ 9 ธันวาคม 2519 โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องว่าคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ขอให้ศาลอุทธรณ์มีหนังสือขอสำนวนดังกล่าวมาประกอบการพิจารณา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า ขอยืมแล้วและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีพยานนำสืบในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 และกระทำการละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ พิพากษายกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ยื่นบัญชีพยานอ้างสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1631/2518 เป็นพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 สำนวนคดีอาญาดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87(3) ที่จะต้องได้รับการวินิจฉัย การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบในประเด็นข้อนี้ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้องโจทก์ โดยไม่วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานในสำนวนคดีอาญาดังกล่าวที่โจทก์อ้างเป็นพยานนั้นเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น เป็นการไม่ชอบเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการรับฟังพยานและชี้ขาดตัดสินคดี” ฯลฯ

“การฟังข้อเท็จจริงใหม่นี้ย่อมมีผลถึงโจทก์ที่ 1 ซึ่งต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 242(3) และมาตรา 247 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ในผลแห่งละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้าง”

พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1

Share