คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1494/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาบุกรุก ลักทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ ศาลพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ จำเลยไม่มีเจตนาลักทรัพย์ที่พิพาทเป็นของจำเลย ถือไม่ได้ว่าจำเลยเจตนากระทำผิดฐานบุกรุกตามฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกว่าจำเลยบุกรุกที่ดินโจทก์ ขอให้ใช้ค่าเสียหาย ดังนี้ มูลคดีทางแพ่งที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยในคดีนี้ก็คือมูลคดีเดียวกับคดีที่โจทก์ได้ฟ้องร้องจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวข้างต้น การวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งจึงจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ได้ความในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาฟังเป็นยุติแล้วว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยฟ้องโจทก์ซึ่งอ้างสภาพแห่งข้อหาในมูลคดีเดียวกับคดีอาญาดังกล่าวจึงย่อมตกไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ตัดฟันต้นสะแกของโจทก์ ใช้ไม้ไผ่ปิดกั้นทางน้ำ ถอนเสารั้ว ขุดถอนต้นมะพร้าว ตะไคร้และกล้วย กับขุดดินถมบ่อของโจทก์ ขอศาลห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้อง ให้เปิดทางน้ำและให้ใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยบุกรุกที่ดินและตัดต้นไม้ของโจทก์ดังฟ้อง โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายซ้ำกับที่ฟ้องมาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2665/2518 ของศาลชั้นต้น เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายสินและนางจันทร์ โพธิ์สุข บิดามารดาสามีจำเลยที่ 1 เมื่อนายสินตาย นางจันทร์แบ่งที่ดินพิพาทให้สามีจำเลยที่ 1 สามีจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยปรปักษ์มาจนเมื่อประมาณ 25 ปีมานี้ สามีจำเลยที่ 1 จึงตายลง จำเลยที่ 1 ได้สมรสกับจำเลยที่ 2 และครอบครองปรปักษ์ที่ดินดังกล่าวต่อมาจนปัจจุบัน ฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยการครอบครองปรปักษ์

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและเพิ่มเติมคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่าฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จำเลยไม่เคยครอบครองที่พิพาท จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์

วันชี้สองสถาน จำเลยสละฟ้องแย้งและคำขอบังคับ และโจทก์จำเลยรับกันว่าค่าเสียหายคิดเป็นเงิน 500 บาท คดีคงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย จำเลยทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายหรือไม่ โจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยานอื่น โดยขอให้นำพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3263/2519 ของศาลชั้นต้นมาวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทคดีนี้

ศาลชั้นต้นฟังว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินตามโฉนดของโจทก์จำเลยมิได้ครอบครองปรปักษ์ และจำเลยตัดฟันต้นไม้ของโจทก์เสียหายพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เกี่ยวกับที่ดินพิพาทนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาบุกรุก ลักทรัพย์ และทำให้เสียทรัพย์ โดยกล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ตัดฟันเอาต้นสะแกของโจทก์ไป 6 ต้น ใช้ไม้ปิดกั้นทางน้ำในเขตที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์นำเรือเข้าออกไม่ได้ขุดดินถมบ่อของโจทก์ ถอนเสารั้วที่โจทก์ปักไว้เป็นแนวเขตที่ดินระหว่างโจทก์จำเลย และขุดถอนต้นมะพร้าว 5 ต้น ตะไคร้ 12 กอ และกล้วย 5 ต้นในที่ดินของโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำโดยขาดเจตนาทุจริตหามีความผิดฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์หรือลักทรัพย์ตามโจทก์ฟ้องไม่ ส่วนศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าที่พิพาทอยู่นอกเขตโฉนดที่ 1269 ของโจทก์ แต่อยู่ในเขตโฉนดที่ 1275 ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายสง่า การที่จำเลยถอนเสารั้วของโจทก์เพียงแต่ถอนขึ้นเท่านั้นมิได้ทำให้ชำรุดเสียหาย ถอนต้นตะไคร้ กล้วย มะพร้าวที่โจทก์เพิ่งปลูก เพื่อให้โจทก์เอาไปคืนไปปลูกที่อื่น เพราะต้องการขุดเอาดินมาทำเป็นทางเดินไม่ปรากฏต้นไม้นั้นเสียหายอย่างใด สามารถนำไปปลูกใหม่ได้ จำเลยทำไปเพราะเชื่อว่าปลูกในเขตที่ดินของจำเลย โดยเจตนาใช้สิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นเหตุสมควรที่จำเลยจะปฏิบัติเช่นนั้นเพื่อยังให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนสิ้นไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามคำพยานโจทก์ยังไม่ได้แน่ว่าโจทก์ปลูกต้นสะแกไว้ในที่พิพาท จำเลยตัดฟันเอาไป ถือไม่ได้ว่าจำเลยเจตนาลักไม้สะแก และตามพฤติการณ์นี้เดิมที่พิพาทเป็นที่บิดามารดาของสามีจำเลยที่ 1 ใช้ปลูกบ้าน สามีจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เคยอยู่ในที่พิพาท จำเลยที่ 1 เคยให้ผู้อื่นเช่าที่พิพาท เคยแจ้งความเมื่อมีกรณีพิพาทกับโจทก์ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยเชื่อว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเจตนากระทำผิดฐานบุกรุกตามฟ้อง ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3263/2519 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวได้ถึงที่สุดแล้ว

ศาลฎีกาเห็นว่า มูลคดีทางแพ่งที่โจทก์นำมาฟ้องร้องจำเลยในคดีนี้ ก็คือมูลคดีเดียวกับคดีที่โจทก์ได้ฟ้องร้องจำเลยในคดีอาญาตามคดีดังกล่าวข้างต้น เมื่อโจทก์ได้นำมูลเรื่องพิพาทกันนี้ไปฟ้องร้องจำเลยเป็นคดีอาญามาแล้ว ในการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งก็จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ได้ความในคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาฟังเป็นยุติแล้วว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายสง่า จำเลยไม่ได้ทำให้เสียทรัพย์ลักทรัพย์และบุกรุก ฉะนั้นฟ้องโจทก์ซึ่งอ้างสภาพแห่งข้อหาในมูลคดีเดียวกับคดีอาญาดังกล่าวจึงย่อมตกไป

พิพากษายืนในผลแห่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share