คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1038/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นคนต่างด้าวให้จำเลยที่1ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนแม้คนต่างด้าวจะได้ที่ดินมาโดยฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา86วรรคหนึ่งอันเป็นโมฆะก็ตามแต่ตามมาตรา94บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับอนุญาตเสียภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดถ้าไม่จำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดก็ให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ดังนั้นจำเลยที่1จึงไม่มีอำนาจจำหน่ายที่ดินของโจทก์ได้โดยพลการการที่จำเลยที่1นำเอาที่ดินของโจทก์ไปขายให้แก่จำเลยที่2โดยพลการถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา55โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2531 โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 31283 พร้อมบ้านเลขที่ 404/4 หมู่ที่ 9 จากบริษัทเดอะวิลเลจ จำกัด โดยให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนเนื่องจากโจทก์เป็นคนต่างด้าวไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยด้วยตนเองได้ แต่โจทก์ได้ยึดถือโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้ต่อมาจำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวไปทำสัญญาจะขายให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจขายจำเลยทั้งสองสมคบกันทำสัญญาจะซื้อขายและจำเลยที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 1เพื่อบังคับให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1469/2532 ของศาลชั้นต้นหลังจากจำเลยที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 1 ได้เพียง 4 วัน จำเลยทั้งสองก็ร่วมกันแถลงต่อศาลชั้นต้นขอทำสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ยอมโอนที่ดินพร้อมบ้านให้แก่จำเลยที่ 2 ภายใน 3 วันโดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ และจำเลยทั้งสองได้ขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 2 นำคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านมาเป็นของจำเลยที่ 2แล้วจำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมบ้านจดทะเบียนจำนองต่อธนาคารทหารไทย จำกัด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1469/2532ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมบ้านแล้วนำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินคืนแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยเป็นตัวแทนถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทแทนโจทก์ ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทแทนโจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 96 ต้องจำหน่ายที่ดินให้แก่บุคคลอื่นซึ่งมีสัญชาติไทย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่31283 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 1469/2532 ของศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนจำนองแล้วนำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินชำระแก่โจทก์หากจำเลยที่ 2 ไม่ยอมไถ่ถอนจำนองก็ให้ยึดที่ดินออกขายทอดตลาดโดยติดจำนอง
โจทก์ และ จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่ยอมไถ่ถอนจำนองก็ให้ยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดโดยติดจำนองและให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ราคาที่ดินพร้อมบ้านพิพาทตามจำนวนเงินซึ่งจำเลยที่ 2 จำนองต่อธนาคารพร้อมดอกเบี้ยอีกส่วนหนึ่ง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นชาวเนเธอร์แลนด์ เดิมจำเลยที่ 1 เป็นเมียเช่าของโจทก์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2532 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 ได้ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีโฉนดที่ดินพิพาท วันที่12 ตุลาคม 2532 จำเลยที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 วันที่ 16 ตุลาคม 2532 จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยที่ 1 ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่1469/2532 วันที่ 26 มกราคม 2533 จำเลยที่ 2 ได้นำคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมาเป็นของจำเลยที่ 2 วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2533จำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมบ้านพิพาทไปจดทะเบียนจำนองต่อธนาคารทหารไทย จำกัด เป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 ในวงเงิน 500,000 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ปัญหานี้จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์เป็นคนต่างด้าวไม่อาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ แม้จะฟังว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นของโจทก์และโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน โจทก์ไม่อาจยึดถือได้อีกต่อไป จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทได้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้คนต่างด้าวจะได้ที่ดินมาโดยฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 วรรคหนึ่ง อันเป็นโมฆะก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับอนุญาตเสียภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด ถ้าไม่จำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดก็ให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจจำหน่ายที่ดินของโจทก์ได้โดยพลการ การที่จำเลยที่ 1 นำเอาที่ดินพร้อมบ้านพิพาทของโจทก์ไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยพลการถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้”
พิพากษายืน

Share