แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การจำนองเป็นสัญญาที่เอาทรัพย์สินตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้ จึงมีหน้าที่จะต้องชำระแก่กันอันเป็นหนี้ประธานส่วนหนึ่ง คือหนี้เงินกู้ที่ผู้คัดค้านจ่ายให้ จำเลยรับไป ส่วนจำนองที่จำเลยทำสัญญาและจดทะเบียนให้แก่ผู้คัดค้านนั้นเป็นเพียงอุปกรณ์แห่งหนี้อันเป็นประธาน ซึ่งเป็นหนี้คนละส่วนแยกออกจากกันได้ การกู้เงินคดีนี้จำเลยได้รับเงินจากผู้คัดค้านไปแล้วในวันทำสัญญาและเพื่อเป็นหลักประกันที่จำเลยจะปฏิบัติตามสัญญาจำเลยได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทมาจำนองเป็นประกันหนี้ดังกล่าวไว้แก่ผู้คัดค้านเช่นนี้ การที่จำเลยกู้เงินผู้คัดค้านและได้รับเงินกู้จากผู้คัดค้านไปแล้ว ในทันทีทันใดนั้น การกู้เงินระหว่างผู้คัดค้านกับจำเลยได้เกิดขึ้นแล้ว หลังจากนั้นแม้จะเป็นวันเดียวกันจำเลยมาทำสัญญาจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทกับผู้คัดค้านอีก กรณีถือได้ว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยอยู่ก่อนแล้วในขณะที่มีการ ทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองรายนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 115 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 5 รายรวมเป็นเงิน 157,572,672.38 บาทแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องรวบรวมทรัพย์สินได้เพียง31,000 บาท ที่ผู้คัดค้านนำมาชำระหนี้ตามคำสั่งศาลให้เพิกถอนการชำระหนี้เท่านั้น และไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินอื่นของจำเลยมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้ครบถ้วน การที่จำเลยได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเพื่อเป็นประกันหนี้แก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านแต่ผู้เดียวมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทได้ก่อนเจ้าหนี้อื่นโดยเจ้าหนี้อื่นไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเพื่อชำระหนี้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีย่อมเห็นได้ว่าจำเลยกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น แม้ผู้คัดค้านจะอ้างว่ารับจำนองโดยสุจริตไม่ทราบว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และการจำนองเป็นนิติกรรมต่างตอบแทน ผู้ร้องก็ชอบที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจำนองรายนี้เสียได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 115
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ตามทางสอบสวนของผู้ร้อง ปรากฏว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 143503 ตำบลคลองกุ่มอำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการฟ้องขอให้ล้มละลาย จำเลยได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ผู้คัดค้านเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เงินในวงเงิน 650,000 บาท ภายหลังจากที่มีการฟ้องขอให้ล้มละลาย จำเลยได้ชำระหนี้แก่ผู้คัดค้าน2 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 31,000 บาท โดยจำเลยรู้ถึงภาวะการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของตนเองเป็นอย่างดีการกระทำของจำเลยทำให้ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้เพียงรายเดียวโดยจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ให้เจ้าหนี้อื่นได้และผู้ร้องไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยเพื่อแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้ครบถ้วน จึงเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและการชำระหนี้ดังกล่าวให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยให้ผู้คัดค้านไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หากไม่ยอมปฏิบัติให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคัดค้านว่า จำเลยชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านมิได้มุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น แต่เป็นการชำระหนี้ตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินเพื่อไถ่ถอนจำนองขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 12 และ 20 พฤษภาคม 2537 ให้ผู้คัดค้านชำระเงิน 31,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่23 มีนาคม 2537 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงิน 650,000 บาท จากผู้คัดค้าน และได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้แก่ผู้คัดค้านเพื่อเป็นประกันหนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ 8 เมษายน2537 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายและศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2537 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2538 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้รองจะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทระหว่างผู้คัดค้านกับจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115ได้หรือไม่ เห็นว่า การจำนองเป็นสัญญาที่เอาทรัพย์สินตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้จึงมีหน้าที่จะต้องชำระแก่กันอันเป็นหนี้ประธานส่วนหนึ่ง คือหนี้เงินกู้ที่ผู้คัดค้านจ่ายให้จำเลยรับไป ส่วนจำนองที่จำเลยทำสัญญาและจดทะเบียนให้แก่ผู้คัดค้านนั้นเป็นเพียงอุปกรณ์แห่งหนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ประธาน ซึ่งเป็นหนี้คนละส่วนแยกออกจากกันได้ การกู้เงินของจำเลยคดีนี้ ตามสำเนาสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ร.1 ข้อ 1 ระบุว่า จำเลยได้รับเงินจากผู้คัดค้าน 650,000 บาท ไปแล้วในวันทำสัญญาและข้อ 8 ระบุว่าเพื่อเป็นหลักประกันที่จำเลยจะปฏิบัติตามสัญญา จำเลยได้นำโฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทมาทำสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้ดังกล่าวไว้แก่ผู้คัดค้าน เมื่อเป็นเช่นนี้การที่จำเลยกู้เงินผู้คัดค้านและได้รับเงินจากผู้คัดค้านไปแล้ว ในทันทีทันใดนั้นการกู้เงินระหว่างผู้คัดค้านกับจำเลยได้เกิดขึ้นหลังจากนั้นแม้จะเป็นวันเดียวกัน จำเลยโดยนายธงทอง รักประจิต ได้ทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้าน กรณีถือได้ว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยอยู่ก่อนแล้ว ในขณะที่มีการทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองรายนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 115 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากผู้ร้องว่า หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 5 ราย รวมเป็นเงิน 157,572,672.38 บาท แต่ผู้ร้องรวบรวมทรัพย์สินได้เพียง 31,000 บาท ที่ผู้คัดค้านนำมาชำระหนี้ตามคำสั่งศาลให้เพิกถอนการชำระหนี้เท่านั้น และไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินอื่นของจำเลยมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้ครบถ้วนการที่จำเลยได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเพื่อเป็นประกันหนี้แก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านแต่ผู้เดียวมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น โดยเจ้าหนี้อื่นไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเพื่อชำระหนี้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีย่อมเห็นได้ว่าจำเลยกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น แม้ผู้คัดค้านจะอ้างว่ารับจำนองโดยสุจริตไม่ทราบว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และการจำนองเป็นนิติกรรมต่างตอบแทน ผู้ร้องก็ชอบที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจำนองรายนี้เสียได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 115 ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำขอในส่วนนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 143503 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม ให้ผู้คัดค้านดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์