คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2785/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค2ให้โจทก์ฟังเมื่อวันที่7กันยายน2538โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเมื่อวันที่10ตุลาคม2538ศาลชั้นต้นยกคำร้องโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาอีกเมื่อวันที่11ตุลาคม2538โดยอ้างว่ามีพฤติการณ์พิเศษและเหตุสุดวิสัยเพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์พิมพ์วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค2เพื่อแจ้งอัยการสูงสุดผิดพลาดเป็นวันที่11กันยายน2538ทำให้อัยการสูงสุดเข้าใจว่าครบกำหนดยื่นฎีกาในวันที่10ตุลาคม2538จึงยื่นคำร้องครั้งแรกในวันนั้นเมื่อปรากฏว่าโจทก์ทราบวันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค2ดีอยู่แล้วโจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาก่อนสิ้นระยะเวลาดังกล่าวและเหตุที่โจทก์อ้างเป็นข้อผิดพลาดภายในหน่วยงานของโจทก์เองถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยการที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตตามคำขอของโจทก์จึงไม่ชอบโจทก์ไม่มีสิทธิยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดและปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535มาตรา 61, 73
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวงพ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73 จำเลยรับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐานไม่ลดโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์ขอไม่ให้รอการลงโทษ โดยอัยการพิเศษประจำเขต 6ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2ให้โจทก์ฟังเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2538 โจทก์มีอำนาจฎีกาได้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคแรก ครั้นเมื่อล่วงเลยกำหนด 1 เดือนแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2538 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาพ้นกำหนดเวลาโดยไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัย ให้ยกคำร้อง โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงถึงที่สุด อย่างไรก็ตามปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาอีกครั้งหนึ่งเป็นฉบับที่สองเมื่อวันที่11 ตุลาคม 2538 โดยอ้างว่าโจทก์ได้ส่งฎีกาไปให้อัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องใช้เวลาส่งเอกสารไปกลับทางไปรษณีย์และอัยการสูงสุดต้องใช้เวลาในการพิจารณาพอสมควรประกอบกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์พิมพ์วันที่ที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เสนออัยการสูงสุดที่สำนักงานอัยการเขต 6 ผิดพลาดไปเป็นวันที่ 11 กันยายน 2538 ทำให้อัยการสูงสุดเข้าใจว่าจะครบกำหนดยื่นฎีกาในวันที่ 10 ตุลาคม 2538 อัยการสูงสุดจึงยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2538ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องไปแล้ว กรณีมีพฤติการณ์พิเศษและเหตุสุดวิสัยที่โจทก์ไม่อาจยื่นฎีกาได้ทันกำหนดจึงขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปมีกำหนด 7 วันนับแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2538ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า อนุญาตตามขอศาลฎีกาเห็นว่า การยื่นคำร้องขอให้ศาลขยายระยะเวลายื่นฎีกาในคดีอาญาภายหลังที่ล่วงเลยกำหนดหนึ่งเดือนแล้วจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 กล่าวคือจะต้องมีเหตุสุดวิสัย แต่เมื่อพิเคราะห์ข้อที่โจทก์อ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาฉบับที่สองของโจทก์ดังกล่าวแล้ว เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้ฟังศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2538โจทก์ย่อมทราบวันครบกำหนดหนึ่งเดือนที่ต้องยื่นฎีกาแล้ว แม้พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์พิมพ์วันที่ที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อแจ้งอัยการสูงสุดผิดพลาด ก็ไม่ใช่เหตุที่ทำให้โจทก์ซึ่งทราบวันครบกำหนดยื่นฎีกาอยู่แล้วต้องเข้าใจผิดพลาดไปด้วย ดังนั้นหากมีพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้โจทก์ยื่นฎีกาไม่ได้ภายในกำหนดดังกล่าวโจทก์ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเสียก่อนครบกำหนดดังกล่าวได้ ทั้งการพิมพ์วันที่ที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ผิดก็เป็นข้อผิดพลาดภายในหน่วยงานของโจทก์เอง ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย คำร้องของโจทก์จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามที่โจทก์ขอจึงไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นฎีกาล่วงเลยกำหนดเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ปัญหานี้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ดังนั้นการที่โจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม2538 ซึ่งล่วงเลยกำหนดยื่นฎีกาดังกล่าวแล้วจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคแรก ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายก ฎีกา ของ โจทก์

Share