แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บทบัญญัติตามตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. อัตราค่าทนายความกำหนดตามทุนทรัพย์แห่งคดีหาใช่กำหนดตามทุนทรัพย์ที่ชนะคดีไม่ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความจำนวน 30,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราร้อยละ 0.43 โดยประมาณ จากทุนทรัพย์ 7,000,000 บาท และอยู่ในเกณฑ์ระหว่างอัตราขั้นต่ำ 600 บาท ถึงอัตราขั้นสูง 350,000 บาท ตามกฎหมาย จึงถือมิได้ว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม การที่ศาลจะกำหนดความรับผิดชั้นที่สุดของคู่ความในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งโดยหลักต้องตกแก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง นั้น บทบัญญัติวรรคดังกล่าวให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจได้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง และเมื่อค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่งตามที่บัญญัติในวรรคสองของมาตราเดียวกัน แม้ค่าทนายความจำนวน 30,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดจะไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่ศาลฎีกาพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีตลอดถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดีของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้แก่โจทก์สูงมากเกินควร ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการเกี่ยวกับคดีที่จำเลยซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการและหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัทชาญชัยค้าเหล็ก จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดอรุณศิลป์มีเดียร้องทุกข์กล่าวหาว่านายชาญชัยยักยอกทรัพย์สินของบริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว และให้โจทก์ดำเนินการระงับข้อพิพาทรวมทั้งดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างจำเลยกับนายชาญชัยเกี่ยวกับกิจการค้าขายและแบ่งทรัพย์สินของบริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น โดยจำเลยตกลงจะให้ค่าจ้างแก่โจทก์ 7,000,000 บาท โจทก์ทำงานให้จำเลยจนสำเร็จแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระค่าจ้างให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 7,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 มิถุนายน 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระส่วนที่เป็นต้นเงิน 300,000 บาท (สามแสนบาท) และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นส่วนที่เป็นค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์แก้อุทธรณ์เอง จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าสาระสำคัญอันนำมาซึ่งผลสำเร็จของงานมิได้เกิดจากโจทก์โดยลำพัง แต่โจทก์เพียงมีส่วนในการดำเนินการและช่วยประสานงานเท่านั้น และสำหรับสินจ้างที่โจทก์พึงได้รับจากจำเลยเพียงใดนั้น เมื่อได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์จำเลยตกลงว่าจ้างกันเป็นจำนวนเงินเท่าใด จึงต้องพิเคราะห์จากสภาพของงาน ระยะเวลาในการปฏิบัติ ซึ่งจำเลยนำนายสุรยุทธทนายความที่จังหวัดนครปฐมเข้าเบิกความให้ข้อเท็จจริงว่า นายสุรยุทธประกอบวิชาชีพทนายความมาเป็นเวลา 20 ปี ก่อนเบิกความ และนายสุรยุทธเป็นทนายความประจำบริษัทชาญชัยค้าเหล็ก จำกัด กับห้างหุ้นส่วนจำกัดอรุณศิลป์มีเดีย นายสุรยุทธสนิทสนมกับครอบครัวของจำเลยและนายชาญชัย เมื่อจำเลยกับนายชาญชัยเกิดเหตุขัดแย้งกัน นายสุรยุทธก็เคยช่วยไกล่เกลี่ยและเคยให้คำแนะนำจำเลยว่าไม่ควรร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่นายชาญชัยซึ่งจำเลยกระทำไปเพราะต้องการกดดันนายชาญชัยให้ตกลงแบ่งทรัพย์สินต่อกัน นอกจากนั้นนายสุรยุทธไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวเพราะเห็นว่าไม่ควรถึงกับเป็นคดีความกัน สำหรับการเจรจาเพื่อให้จำเลยกับนายชาญชัยตกลงกันได้นั้น นายสุรยุทธให้ความเห็นว่าหากนายสุรยุทธดำเนินการตั้งแต่ต้นก็จะคิดค่าจ้างไม่เกิน 100,000 บาท เพราะมิได้มีข้อยุ่งยาก เห็นได้ว่านายสุรยุทธประกอบวิชาชีพทนายความโดยตรงต่างกับโจทก์ซึ่งทำเป็นอาชีพเสริม น่าเชื่อว่านายสุรยุทธมีประสบการณ์น่าเชื่อถือรับฟังได้มากกว่าโจทก์ฉะนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพของงานและระยะเวลาที่โจทก์ปฏิบัติตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2542 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 ประมาณ 2 เดือน ความสำเร็จของงานมิได้เกิดจากโจทก์โดยลำพัง ตลอดทั้งงานอื่น ๆ เช่น การเคลื่อนย้ายวัสดุเครื่องพับเหล็ก การดูแลทำความสะอาดอาคาร การติดตั้งประปา การจัดหาแรงงานและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าในอาคาร เป็นต้น ก็ล้วนแต่เป็นงานปลีกย่อยซึ่งโจทก์ปฏิบัติสานต่อจากข้อตกลงที่เกิดขึ้นเท่านั้น รวมทั้งข้ออ้างในเรื่องขาดประโยชน์ในธุรกิจอื่นซึ่งโจทก์อ้างว่ามีอยู่ ก็หามีเหตุผลสมควรจะนำมาประกอบการกำหนดค่าจ้างให้แก่โจทก์ไม่ เพราะเป็นเรื่องไกลเกินเหตุสำหรับโจทก์ซึ่งจะต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติงานให้แก่จำเลย และโดยสภาพของงานก็ขัดต่อเหตุผลที่จะให้รับฟังว่าโจทก์ไม่มีเวลาที่จะดำเนินการในเรื่องอื่นได้เลย ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าจ้างแตกต่างกันมาและยังสูงเกินไป ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยโดยเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 100,000 บาท ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไปเกี่ยวกับค่าทนายความในศาลชั้นต้นซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยชำระแก่โจทก์เป็นเงิน 30,000 บาท เป็นการกำหนดค่าทนายความสูงกว่าอัตราค่าทนายความตามมาตรา 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติตามตาราง 6 อัตราค่าทนายความกำหนดตามทุนทรัพย์แห่งคดี หาใช่กำหนดตามทุนทรัพย์ที่ชนะคดีไม่ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความจำนวน 30,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราร้อยละ 0.43 โดยประมาณ จากทุนทรัพย์ 7,000,000 บาท และอยู่ในเกณฑ์ระหว่างอัตราขั้นต่ำ 600 บาท ถึงอัตราขั้นสูง 350,000 บาท ตามกฎหมาย จึงถือมิได้ว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม การที่ศาลจะกำหนดความรับผิดชอบชั้นที่สุดของคู่ความในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ซึ่งโดยหลักต้องตกแก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่ง นั้น บทบัญญัติวรรคดังกล่าวให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจได้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง และเมื่อค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่งตามที่บัญญัติในวรรคสองของมาตราเดียวกัน แม้ค่าทนายความจำนวน 30,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดจะไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่ศาลฎีกาพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีตลอดถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดีของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้แก่โจทก์สูงมากเกินควร ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 19 มิถุนายน 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นตามทุนทรัพย์ที่ชนะคดีในชั้นฎีกาโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ