แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2544 บริษัทจำเลยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 47.87 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยถือหุ้นร้อยละ 24.29 ธนาคาร ก. ถือหุ้นร้อยละ 7.86 และประชาชนทั่วไปถือหุ้นที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 20 ของหุ้นทั้งหมด เมื่อการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยแปรรูปเป็นบริษัท ป. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 บริษัท ป. จึงไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 (2) ทำให้บริษัทจำเลยมีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่าหรือรัฐวิสาหกิจตาม มาตรา 6 (1) ไม่เกินร้อยละ 50 บริษัทจำเลยจึงไม่เป็นรัฐวิสาหกิจและไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 อีกต่อไป แต่ตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแรงงานทั่วไป อีกทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัทจำเลยซึ่งเป็นสหภาพที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ย่อมสิ้นสภาพการเป็นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจลงในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ด้วย โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 24
เมื่อเดือนมกราคม 2545 ถึงธันวาคม 2545 โจทก์ไม่ไปถึงสถานที่ทำงานในเวลา 8 นาฬิกา อันเป็นเวลาทำงานตามปกติรวม 35 ครั้ง จำเลยออกหนังสือเตือนลงวันที่ 11 มกราคม 2546 ต่อมาวันที่ 9 มกราคม 2546 โจทก์แสดงกิริยาดูหมิ่นเหยียดหยามและพูดจาไม่สุภาพหยาบคายต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรง จำเลยออกหนังสือเตือนลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 โดยหนังสือเตือนทั้งสองฉบับระบุว่า เป็นเรื่องเตือนให้ปรับปรุงความประพฤติ และระบุเรื่องการกระทำผิดวินัยของโจทก์ด้วย โดยมีข้อความเรื่องลงโทษโจทก์ด้วยการออกหนังสือตักเตือน หลังจากนั้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ถึงมีนาคม 2546 โจทก์ยังคงทำผิดซ้ำคำเตือนโดยไม่ไปถึงอาคารสถานที่ทำงานและไม่ปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา รวม 13 ครั้ง จำเลยจึงมีหนังสือลงวันที่ 24 มีนาคม 2546 ตามเอกสารหมาย ล.12 ระบุว่า หนังสือแจ้งการกระทำผิดซ้ำคำเตือน มีข้อความระบุความผิดของโจทก์ในเรื่องดังกล่าวแล้วยังระบุว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน ทั้งระบุว่าบริษัทจะพิจารณาลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานต่อไปโดยมิได้มีข้อความเรื่องลงโทษโจทก์ด้วยการออกหนังสือตักเตือน หลังจากออกหนังสือฉบับนี้ได้ 9 วัน จำเลยออกหนังสือปลดโจทก์ออกจากการเป็นพนักงาน ดังนี้ หนังสือแจ้งการกระทำผิดซ้ำคำเตือนตามเอกสารหมาย ล.12 ดังกล่าว จึงมิใช่หนังสือเตือน แต่เป็นหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์และจำเลยทั้งสองสำนวนว่า โจทก์และจำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าทำงานกะนับแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2541 ถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2542 เป็นเงิน 19,039 บาท นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2542 ถึงวันที่ 4 เมษายน 2546 เป็นเงิน 78,370 บาท ค่าเสียหายเนื่องจากการปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนใหม่นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2544 ถึงวันที่ 4 เมษายน 2546 เป็นเงิน 5,526 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 เมษายน 2546 เพิกถอนหนังสือเตือนของจำเลยฉบับลงวันที่ 21 มกราคม 2546 ฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 และวันที่ 25 มีนาคม 2546 จ่ายเงินวินัยการปฏิบัติงานประจำปี 2545 เป็นเงิน 5,685 บาท ประจำปี 2546 เป็นเงิน 2,969 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 เมษายน 2546 ค่าชดเชยเป็นเงิน 113,700 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 21,224 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับค่าชดเชย และร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า นับแต่วันที่ 4 เมษายน 2546 ค่าเสียหายเนื่องจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 500,000 บาท จ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเต็มจำนวนให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ผิดนัด และใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 1,137,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 113,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 เมษายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2544 บริษัทจำเลยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 47.87 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยซึ่งมีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด ถือหุ้นร้อยละ 24.29 และมีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 7.86 ประชาชนทั่วไปถือหุ้นที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 20 ของหุ้นทั้งหมด จำเลยจึงมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 6 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้แปรรูปเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อันเป็นรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 6 (2) จึงมีผลทำให้จำเลยเป็นบริษัทที่กระทรวง ทบวง กรม หรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่าหรือรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 6 (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยน้อยกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด ย่อมมีผลทำให้จำเลยมิได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกต่อไป คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ที่โจทก์เป็นหนึ่งในกรรมการซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวและใช้บังคับแก่กิจการรัฐวิสาหกิจเท่านั้น จึงมีผลเป็นอันสิ้นสภาพลงตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในเดือนเมษายน 2546 จึงมิได้ฝ่าฝืนมาตรา 24 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 โจทก์ไม่มีสิทธิรับค่าเสียหายในส่วนนี้ ส่วนการเพิกถอนหนังสือเตือน ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไปถึงสถานที่ปฏิบัติงานเลยเวลาทำงานปกติหลายครั้ง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติงานหรือละทิ้งหน้าที่ในเวลาทำงาน หรือถ่วงเวลาทำงานในสถานที่อื่น อีกทั้งเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2546 โจทก์โต้เถียงกับผู้บังคับบัญชาและใช้วาจาไม่สุภาพ จะร้องเรียนผู้บังคับบัญชาต่อผู้บริหารระดับสูงว่าผู้จัดการส่วนการพนักงานไม่เหมาะสมต่อตำแหน่ง อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยข้อ 19 จึงไม่มีเหตุเพิกถอนหนังสือเตือนทั้งสามฉบับ สำหรับเงินวินัยการปฏิบัติงานและค่าทำงานเป็นกะ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า การจ่ายเงินวินัยมีหลักเกณฑ์ว่าจะจ่ายทุกสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ทุกปี โดยพนักงานที่มีเวลาทำงานไม่ครบหรือประพฤติตนไม่เหมาะสมจะได้รับเงินวินัยการปฏิบัติงานลดลงไปตามสัดส่วน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าปี 2545 โจทก์ไปทำงานสายรวม 35 ครั้ง ในปี 2546 โจทก์ถูกลงโทษตักเตือนเป็นหนังสือ จำเลยมีสิทธิตัดเงินวินัยการปฏิบัติงานทั้งสองปีได้ สำหรับเงินค่าทำงานกะ ศาลแรงงานกลางฟังว่า พนักงานที่ปฏิบัติงานกลางวันระหว่าง 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา จะไม่ได้รับค่าทำงานกะ การย้ายโจทก์ไปทำงานกลางวันกระทำโดยมีเหตุผลอันสมควรมิใช่กลั่นแกล้ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานกะ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นค่าทำงานกะขาดอายุความหรือไม่ สำหรับค่าชดเชยนั้นศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไปปฏิบัติงานสาย ในปี 2545 จำเลยออกหนังสือเตือนฉบับลงวันที่ 21 มกราคม 2546 เมื่อโจทก์ไปปฏิบัติงานสายระหว่างเดือนมกราคม 2546 ถึงเดือนมีนาคม 2546 จำเลยลงโทษด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือลงวันที่ 24 มีนาคม 2546 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ไปปฏิบัติงานสายอันเป็นการผิดซ้ำคำเตือน จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าโจทก์ไปทำงานสายหลายครั้ง จำเลยคงตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างเป็นอาจิณกระทำการไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า นอกจากนี้โจทก์มีปัญหากับผู้บังคับบัญชา ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ถูกย้ายไปทำงานในเวลากลางวัน ก็ยังถูกส่งตัวคืนส่วนการพนักงาน ขณะที่โจทก์ไปทำงานส่วนการพนักงานยังมีข้อขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาจนต้องออกหนังสือเตือนเกี่ยวกับความประพฤติของโจทก์อีก การเลิกจ้างมีเหตุสมควรเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกสรุปได้ว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ได้นิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ไว้โดยเฉพาะแล้วว่าหมายถึง (1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กระทรวง ทบวง กรม หรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่าหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ เมื่อการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้แปรรูปเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 6 (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ย่อมทำให้บริษัทจำเลยมีผู้ถือหุ้นเป็นกระทรวง ทบวง กรมหรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่า หรือรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 6 (1) ไม่เกินร้อยละห้าสิบ ดังนั้นบริษัทจำเลยจึงไม่เป็นรัฐวิสาหกิจและไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 อีกต่อไป แต่จะตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแรงงานทั่วไป อีกทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ย่อมสิ้นสภาพเป็นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจลงในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ด้วย โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว นอกจากนี้แล้วสหภาพแรงงานดังกล่าวมิได้มีการยกเลิกด้วยเหตุนายทะเบียนมีคำสั่งให้ยกเลิกตามมาตรา 66 อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยและโจทก์ว่า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า หนังสือแจ้งการกระทำผิดซ้ำคำเตือนตามเอกสารหมาย ล.12 มิใช่หนังสือเตือน เพราะไม่มีข้อความใดที่ระบุว่าห้ามมิให้โจทก์กระทำผิดเช่นว่านั้นอีก ส่วนโจทก์อุทธรณ์สรุปได้ว่า คู่มือพนักงานและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานได้ระบุขั้นตอนให้ลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยลงโทษเตือนโจทก์ด้วยวาจาและเตือนเป็นหนังสือแล้วไม่สามารถนำเหตุนั้นมาลงโทษได้อีก เห็นว่า เมื่อเดือนมกราคม 2545 ถึงเดือนธันวาคม 2545 โจทก์ไม่ไปถึงสถานที่ทำงานในเวลา 8.00 นาฬิกา อันเป็นเวลาทำงานตามปกติรวมทั้งสิ้น 35 ครั้ง จำเลยออกหนังสือเตือนลงวันที่ 21 มกราคม 2546 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2546 โจทก์แสดงกิริยาดูหมิ่นเหยียดหยามและพูดจาไม่สุภาพหยาบคายต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรง จำเลยออกหนังสือเตือนฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 เอกสารทั้งสองฉบับลงลายมือชื่อนายวัชระพงษ์ผู้จัดการส่วนการพนักงาน หนังสือทั้งสองฉบับนี้ระบุว่าเป็นเรื่องเตือนให้ปรับปรุงความประพฤติ และยังระบุเรื่องการกระทำผิดของโจทก์ด้วย อีกทั้งมีข้อความเหมือนกันว่า “ดังนั้นเพื่อให้ท่านแก้ไขและปรับปรุงความประพฤติของท่านให้เป็นพนักงานที่ดีและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมตามกฎข้อบังคับและมาตรฐานการทำงานที่ดี บริษัทฯจึงลงโทษท่านโดยการออกหนังสือเตือนให้ปรับปรุงความประพฤติครั้งที่ 1 ขอตักเตือนว่าหากท่านฝ่าฝืนกฏข้อบังคับของบริษัท โดยกระทำผิดเช่นนั้นอีก บริษัทจะพิจารณาลงโทษสถานหนักต่อไป” หลังจากนั้นปรากฏว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ถึงมีนาคม 2546 โจทก์ยังคงทำผิดซ้ำคำเตือนโดยไปไม่ถึงอาคารสถานที่ทำงานและไม่ปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 8.00 นาฬิกา รวมทั้งสิ้น 13 ครั้ง จำเลยจึงมีหนังสือลงวันที่ 24 มีนาคม 2546 ลงนามโดยนายวัชระพงษ์เช่นกัน แต่ระบุเรื่องว่า หนังสือแจ้งการกระทำผิดซ้ำคำเตือน เมื่อมีข้อความระบุการกระทำความผิดของโจทก์ในเรื่องดังกล่าวแล้วยังระบุว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนทั้งระบุว่าบริษัทจะพิจารณาลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานต่อไป มิได้มีข้อความเรื่องลงโทษโจทก์ด้วยการออกหนังสือตักเตือน หลังจากออกหนังสือฉบับนี้ได้ 9 วัน จำเลยออกหนังสือปลดโจทก์ออกจากการเป็นพนักงาน ดังนั้น เอกสารหมาย ล.12 จึงมิใช่หนังสือเตือนแต่เป็นหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือน โดยโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น การกระทำของโจทก์เป็นการละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายเป็นอาจิณ จำเลยผู้เป็นนายจ้างสามารถไล่ออกโดยมิพักต้องบอกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 พฤติการณ์เกี่ยวกับการทำงาน รวมทั้งการฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบข้อบังคับของจำเลยย่อมมีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องทั้งหมด