คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15187/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจล่วงหน้าไว้โดยมิได้มีการกรอกข้อความรายละเอียดลงไป แสดงว่าโจทก์รู้ดีและยอมรับอยู่แล้วว่าผู้ที่ซื้อที่ดินพิพาทจะสามารถนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ไปกระทำการโอนขายต่อหรือจำนองหรือกระทำการใด ๆ ก็ได้ภายหลังที่พ้นกำหนดข้อห้ามโอน 5 ปีนับแต่ออกเอกสาร น.ส.3 ก. แล้ว เมื่อจำเลยรับจำนองที่ดินโดยสุจริตจากผู้ที่ซื้อที่ดินพิพาทไปตามวิธีปฏิบัติดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองเพื่อให้โจทก์มิต้องชำระหนี้ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๕ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้หนังสือสัญญาจำนองเป็นประกันและบันทึกต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 674 เลขที่ดิน 89 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างโจทก์ (โดยนางสุนทรา) ผู้จำนอง กับจำเลย (โดยนายสุรีย์) ผู้รับจำนองเป็นโมฆะ และขอให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมสัญญาดังกล่าว โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสิ้น หากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า หนังสือสัญญาจำนองเป็นประกันระหว่างโจทก์และจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์เบิกความว่า ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายชาญชัย และได้โอนการครอบครองที่ดินให้แก่นายชาญชัยเรียบร้อยแล้ว ต่อมานายชาญชัยได้ขอให้โจทก์มอบสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านให้แก่นายชาญชัยเพื่อไปโอนทางทะเบียนหลักฐาน น.ส.3 ก. ที่จะออกในภายหลัง ในชั้นแรกโจทก์ปฏิเสธ แต่ต่อมาโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในใบมอบอำนาจซึ่งเป็นแบบฟอร์มโดยไม่มีการกรอกข้อความแล้วมอบให้แก่นายชาญชัยไป 1 ฉบับ โดยนายชาญชัยอ้างว่าจะนำไปโอนที่ดิน น.ส.3 ก. แปลงพิพาทที่จะออกมาในชื่อของโจทก์ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ที่ดินสามารถโอนให้แก่ผู้อื่นได้ แต่จากคำเบิกความของนายชาญชัยว่า ซื้อที่ดินพิพาทมาจากโจทก์ และต่อมาภายหลังได้ขายให้แก่นางยุภาพรและนางวาสนา โดยขณะนั้นนายชาญชัยเป็นผู้ถือ น.ส.3 ก. ขณะที่ขายให้แก่นางยุภาพรและนางวาสนาที่ดินพิพาทยังอยู่ในข้อกำหนดห้ามโอน 5 ปีอยู่ แต่นายชาญชัยได้มอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นางยุภาพรและนางวาสนาแล้ว และได้ส่งมอบ น.ส.3 ก. พร้อมกับหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้แก่นางยุภาพรและนางวาสนาไปไว้สำหรับการโอนที่ดินเป็นชื่อของผู้ซื้อเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการโอน และได้มอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ให้ไปด้วย วิธีการเช่นนี้เป็นวิธีการปฏิบัติที่ผู้มีชื่อในที่ดินนิคมสร้างตนเองลำตะคองจะโอนให้แก่ผู้อื่น จากคำเบิกความของโจทก์และนายชาญชัยดังกล่าว การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจไว้โดยมิได้มีการกรอกข้อความรายละเอียดลงไปก็เพื่อให้นายชาญชัยหรือผู้ใดก็ได้ที่ซื้อที่ดินพิพาทมีเอกสารไว้เพื่อไปโอนที่ดินหรือทำนิติกรรมใด ๆ ก็ได้ เหตุที่ต้องทำวิธีการดังกล่าวเพราะที่ดินพิพาทอยู่ในข้อกำหนดห้ามโอน 5 ปี นับแต่ออกเอกสาร น.ส.3 ก.หากไม่กระทำดังกล่าวโดยลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจไว้ก็จะไม่สามารถโอนขายโดยหลีกเลี่ยงกฎหมายให้แก่ผู้ใดได้ จึงต้องลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ล่วงหน้าไว้ การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจล่วงหน้าไว้ดังกล่าว แสดงว่าโจทก์รู้ดีและยอมรับอยู่แล้วว่าผู้ที่ซื้อที่ดินพิพาทจะสามารถนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ไปกระทำการโอนขายต่อหรือจำนองหรือกระทำการใด ๆ ก็ได้ภายหลังที่พ้นกำหนดข้อห้ามโอนแล้ว เมื่อจำเลยรับจำนองที่ดินโดยสุจริตจากผู้ที่ซื้อที่ดินพิพาทไปตามวิธีปฏิบัติดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองเพื่อให้โจทก์มิต้องชำระหนี้ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share