คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5639/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า SEIKOในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2503 สำหรับสินค้าจำพวก 10 สินค้าเครื่องบอกเวลาและได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเมื่อปี 2505ได้มีการโฆษณาสินค้าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1แพร่หลายในประเทศไทยมาก่อนที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2534โดยในปี 2508 บริษัท ม. ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้านาฬิกาของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า SEIKO รวม 2 คำขอ โดยคำขอแรกใช้กับสินค้าจำพวก 50สินค้าเบ็ดเตล็ด ได้แก่ ยาขัดทาเครื่องแต่งเรือน ส่วนคำขอที่สองใช้กับสินค้าจำพวก 37 ได้แก่ หนังของสัตว์ และต่อมาได้มีการโอนเครื่องหมายการค้าทั้งสอง เครื่องหมายการค้าให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า SEIKO และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเวลานานหลายปีประกอบกับได้มีการโฆษณาสินค้าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นที่แพร่หลายทั่วไป และโจทก์ได้เลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทในสินค้าต่างจำพวกกับสินค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้านั้นอยู่ก่อนแล้วก็ตาม ก็อาจทำให้ผู้ซื้อสินค้าเกิดความสับสนหรือหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งนับว่าเป็นการลวงสาธารณชนตามมาตรา 16แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 โจทก์จึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดีกว่าโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ยอมรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพราะเห็นว่าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าซึ่งผู้อื่นได้จดทะเบียนไว้ เป็นการปฏิบัติตามอำนาจของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 16 และตามมาตรา 16 วรรคสอง บัญญัติว่าภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่รับจดทะเบียน ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 19 ทวิ โดยยื่นต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ดังนั้น ถ้าโจทก์ไม่พอใจคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้แต่เพียงวิธีเดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2ให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทได้ โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ไว้แล้วว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง หนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่มอบให้ ว. เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 มิได้ลงนามการรับรองลายมือชื่อกรรมการฝ่ายบริหารอาวุโสของจำเลยที่ 1ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้ ร. เป็นผู้ดำเนินคดีนี้แทนแต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้สืบพยานเพราะขาดนัดพิจารณา และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องของโจทก์ว่า ร. เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1 มีอำนาจเกี่ยวกับการขอจดทะเบียนการค้าของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ดังนั้น ร. ย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งแทนจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ แต่แม้จะถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีเพราะคำให้การที่ร. ยื่นไว้แทนจำเลยที่ 1 ไม่มีผลใช้บังคับได้ก็ตามแต่ข้อวินิจฉัยในปัญหาเกี่ยวกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1ดังที่กล่าวมาข้างต้นก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นคงมีผลเฉพาะปัญหาที่ ร. ฟ้องแย้งโจทก์แทนจำเลยที่ 1จึงต้องยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการค้า ผลิต จำหน่ายสีทาบ้าน ทินเนอร์ และอื่น ๆจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่น ในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 1 ได้ตั้งให้นายโรจน์วิทย์เปเรร่า ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยเป็นตัวแทนมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยระบุสถานที่ส่งบัตรหมายของจำเลยที่ 1ว่าให้ส่งที่ตัวแทน จึงถือว่าจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย โจทก์ใช้อักษรโรมันคำว่า SEIKO ซึ่งอ่านว่า ไซโก้ และอักษรไทยคำว่า ไซโก้ เป็นเครื่องหมายการค้า กับสินค้าของโจทก์โดยได้ใช้และโฆษณาเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อเนื่องกันมากว่า 20 ปี จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักนิยมอย่างแพร่หลายของสาธารณชนทั่วไปในประเทศไทย โจทก์จึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2534 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว เพื่อใช้ในสินค้าจำพวกที่ 1 สำหรับสิ่งของสินค้าทินเนอร์ แต่จำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนให้โจทก์เห็นว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่า จำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวในขณะที่จำเลยที่ 1 ไม่มีสถานที่ประกอบการค้าในประเทศไทยไม่เคยผลิต จำหน่ายสินค้าทินเนอร์ทั้งในประเทศไทยหรือประเทศอื่น ๆไม่เคยใช้และโฆษณาเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าทินเนอร์แต่อย่างใด และเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่เป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้น เป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะบ่งเฉพาะนำมาทำให้เหมาะ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าสินค้าทินเนอร์ของโจทก์นั้นผิดกับสินค้าทินเนอร์ของผู้อื่น และสินค้าทินเนอร์ก็ไม่ปรากฏว่าได้เคยมีผู้หนึ่งผู้ใดใช้เครื่องหมายการค้า คำว่า SEIKO เผยแพร่ในท้องตลาดและไม่ปรากฏว่าได้เคยมีผู้หนึ่งผู้ใดยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก่อนโจทก์ ประเทศไทยไม่มีกำหนดไว้ว่าการนำเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดขอจดทะเบียนหรือนายทะเบียนยังไม่ได้รับจดทะเบียนมาขอจดเป็นการขัดต่อรัฐประศาสโนบายหรือศีลธรรมแต่อย่างใด คำขอจดทะเบียนของโจทก์จึงชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และการที่จำเลยที่ 2 ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า SEIKO อักษรไทยคำว่า ไซโก้ ดีกว่าจำเลยที่ 1ให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอที่ 221636 และห้ามจำเลยที่ 1 ขัดขวางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในจำพวก 1 สำหรับสิ่งของสินค้าทินเนอร์ให้โจทก์ต่อไป
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนไว้ตามกฎหมายแห่งประเทศญี่ปุ่นและได้มอบอำนาจให้นายโรจนวิทย์ เปเรร่า หรือนายธเนศ เปเรร่าเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าฟ้องร้อง หรือกระทำการใดแทนจำเลยที่ 1 ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า SEIKO ซึ่งอ่านว่า ไซโกและใช้กับสินค้าต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 1 ผลิตขึ้น มานานกว่า 40 ปีจนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกและได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2508 และสินค้าต่าง ๆ ภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่สาธารณชนผู้ซื้อในประเทศไทยเป็นอย่างดีจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวที่แท้จริงเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2534 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนให้ จำเลยที่ 1 เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดีกว่าโจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มานานแล้ว การกระทำของโจทก์เป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายโดยอาศัยความมีชื่อเสียงทางการค้าของจำเลยที่ 1 ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1ได้รับความเสียหาย ขอให้มีคำสั่งให้โจทก์เลิกใช้เครื่องหมายการค้าSEIKO กับสินค้าต่าง ๆ ของโจทก์และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะเลิกใช้
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 อาศัยอำนาจตามมาตรา 16แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ถ้าโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของจำเลยที่ 2 โจทก์ต้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 16 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 เท่านั้น ดังนั้นการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยผลิตสินค้าทินเนอร์ออกจำหน่ายในประเทศไทย และไม่เคยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า SEIKO ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยสุจริตจึงไม่เป็นละเมิดต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับความเสียหายแต่ถ้าจะเสียหายก็ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท จำเลยที่ 1ไม่มีอำนาจยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง หนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1ที่มอบให้นายโรจน์วิทย์ เปเรร่า หรือนายธเนศ เปเรร่า เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1มิได้ลงนามการรับรองลายมือชื่อกรรมการฝ่ายบริหารอาวุโสของจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ และมีคำสั่งให้โจทก์เลิกใช้เครื่องหมายการค้าที่เขียนด้วยอักษรโรมันคำว่า SEIKOหรือที่อ่านเป็นสำเนียงภาษาไทยว่า ไซโก้หรือไซโก กับสินค้าต่าง ๆของโจทก์ นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า SEIKOอ่านว่า ไซโกหรือไซโก้ ดีกว่ากัน ข้อเท็จจริงฟังได้จากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ากรมทะเบียนการค้า ว่า จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า SEIKO ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2503 สำหรับสินค้าจำพวก 10สินค้าเครื่องบอกเวลาตามเอกสารหมาย ล.2 และได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเมื่อปี 2505 ตามเอกสารหมาย ล.6 ได้มีการโฆษณาสินค้าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 แพร่หลายในประเทศไทยมาก่อนที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2534 ตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อเท็จจริงยังได้ความต่อไปว่าในปี 2508 บริษัทเมืองทอง จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้านาฬิกาของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า SEIKO รวม 2 คำขอ โดยคำขอแรกใช้กับสินค้าจำพวก 50สินค้าเบ็ดเตล็ด ได้แก่ ยาขัดทาเครื่องแต่งเรือน ส่วนคำขอที่ 1ใช้กับสินค้าจำพวก 37 ได้แก่ หนังของสัตว์และต่อมาได้มีการโอนเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายการค้าให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 เห็นได้ชัดว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า SEIKO และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเวลานานหลายปีประกอบกับได้มีการโฆษณาสินค้าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1เป็นที่แพร่หลายทั่วไป จึงเชื่อว่าโจทก์ได้เลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้ารายพิพาทขึ้นเอง ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ คดีนี้แม้โจทก์จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทในสินค้าต่างจำพวกกับสินค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้านั้นอยู่ก่อนแล้วก็ตาม ก็อาจทำให้ผู้ซื้อสินค้าเกิดความสับสนหรือหลงผิดว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คือเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งนับว่าเป็นการลวงสาธารณชนตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 โจทก์จึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดีกว่าโจทก์
ปัญหาที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2ให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทได้ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ยอมรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพราะเห็นว่าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าซึ่งผู้อื่นได้จดทะเบียนไว้เป็นการปฏิบัติตามอำนาจของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 16และตามมาตรา 16 วรรคสอง บัญญัติว่าภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่รับจดทะเบียน ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 19 ทวิโดยยื่นต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ดังนั้น ถ้าโจทก์ไม่พอใจคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามที่บัญญัติไว้ได้แต่เพียงวิธีเดียว โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องที่ 2 ชอบแล้ว
มีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาข้อสุดท้าย การดำเนินคดีของผู้แทนจำเลยที่ 1 เป็นไปโดยชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ไว้แล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจยื่นคำให้การและฟ้องแย้งหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่มอบให้นายโรจน์วิทย์เปเรร่า หรือนายธเนศ เปเรร่า เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 มิได้ลงนามการรับรองลายมือชื่อกรรมการฝ่ายบริหารอาวุโสของจำเลยที่ 1ไม่ถูกต้อง ในเรื่องนี้ฝ่ายจำเลยที่ 1 มีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้นายโรจน์วิทย์เป็นผู้ดำเนินคดีนี้แทนตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายคำให้การจำเลยที่ 1หมายเลข 1 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้สืบพยานเพราะขาดนัดพิจารณา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้องของโจทก์ว่า นายโรจน์วิทย์ เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1 มีอำนาจเกี่ยวกับการขอจดทะเบียนการค้าของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ดังนั้น นายโรจน์วิทย์ย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งแทนจำเลยที่ 1 ในคดีนี้อย่างไรก็ตาม แม้จะถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีเพราะคำให้การที่นายโรจน์วิทย์ยื่นไว้แทนจำเลยที่ 1ไม่มีผลใช้บังคับได้ก็ตาม แต่ข้อวินิจฉัยในปัญหาเกี่ยวกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ดังที่กล่าวมาข้างต้นก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น คงมีผลเฉพาะปัญหาที่นายโรจน์วิทย์ฟ้องแย้งโจทก์แทนจำเลยที่ 1 จึงต้องยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share