คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3249/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล และการลงโทษย่อมเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองได้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงนั้น ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าสมควรจะทำการไต่สวนหรือไม่เมื่อเห็นว่าไม่สมควรที่จะทำการไต่สวนก็ชอบที่จะยกคำร้องได้ ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ไต่สวนดังกล่าว จึงเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะจำเลยย่อมมิใช่ผู้เสียหายอันจะมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งของศาลนั้นได้

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาลและการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลย่อมเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ หากกรณีละเมิดอำนาจศาลได้กระทำต่อหน้าศาล ศาลย่อมพิพากษาลงโทษไปได้โดยไม่ต้องมีการไต่สวน หากมิได้กระทำต่อหน้าศาลศาลจะต้องทำการไต่สวนหาข้อเท็จจริงก่อนมีคำสั่ง การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองได้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงนั้น ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าสมควรจะทำการไต่สวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องของจำเลยหรือไม่ เมื่อเห็นว่าไม่สมควรที่จะทำการไต่สวน ก็ชอบที่จะยกคำร้องเสียได้ ดังนั้นคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยให้ยกคำร้องของจำเลยนั้นเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ จำเลยย่อมมิใช่ผู้เสียหายอันจะมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งของศาลดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share